กระโถนพระรามมีโครงสร้างทั่วไปคล้ายกับกระโถนนางสีดา ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕.๕-๑๑ ซม. สูง ๖-๘ ซม. กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย เส้นรอบวง ๑๓.๒-๑๘.๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๑๐ กลีบ เรียง ๒ ชั้น ชั้นละ ๕ กลีบ กลีบชั้นนอกกว้าง ๑.๗-๓.๔ ซม. ยาว ๒.๑-๔.๑ ซม. ส่วนชั้นในกว้าง ๑.๕-๒.๙ ซม. ยาว ๒-๔.๑ ซม. สีแดงเลือดหมูมีตุ่มหูดสีขาว ชมพู หรือม่วงอ่อน ขอบปากถ้วยมีกะบังกลีบ รวมรูปวงแหวน กว้าง ๐.๘-๑.๘ ซม. มีรูเปิดตรงกลาง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๓-๒.๙ ซม. ด้านบนกะบังมีแถบเป็นวง ๓ แถบ สีต่างกัน แถบแรกอยู่ติดชั้นกลีบรวม กว้าง ๑-๗ มม. สีแดง ชมพู หรือขาว แถบกลางกว้าง ๓-๕ ซม. สีเหลืองถึงน้ำตาล หรือแดงเข้ม แถบในสุดกว้าง ๔-๘ มม. สีแดงสุดถึงแดงเข้ม หรืออาจเป็นสีเทาถึงเกือบดำ บนกะบังมีขนเรียก ราเมนตา สีเหลืองหรือน้ำตาลถึงแดง ขนาดใหญ่ ยาว ๕-๖ มม. ด้านในถ้วยใต้แผ่นกะบังมีสันสีแดงเข้มตามแนวรัศมี สูง ๓-๕ มม. สีจะจางลงจนเป็นสีแดงส้มไปทางฐานดอก ด้านบนของสันแผ่ออก อาจแบนหรือปุ๋มเล็กน้อย รูเปิดกลางดอกมักกว้างกว่าปลายเส้าเกสร
เส้าเกสรของดอกทั้ง ๒ เพศแตกต่างกันมาก ดอกเพศผู้มีเส้าเกสรสูง ๑.๔-๒.๑ ซม. กว้างประมาณ ๕ มม. ปลายด้านบนแผ่เป็นรูปถ้วย กว้าง ๑.๔-๑.๘ ซม. สูง ๖-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๒๐ อัน ติดที่ด้านล่างของถ้วย ดอกเพศเมียมีเส้าเกสรสูง ๑.๙-๒.๓ ซม. กว้าง ๐.๙-๑.๒ ซม. ปลายด้านบนแผ่เป็นรูปถ้วย กว้าง ๒.๒-๒.๘ ซม. สูง ๐.๙-๑.๒ ซม. ด้านในดอกมีขนทั่วไป รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีหลายช่อง มีออวุลจำนวนมากติดอยู่ที่ผนังรังไข่
กระโถนพระรามเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ถึงภาคใต้ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๗๕๐ ม. ดอกบานระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
พืชให้อาศัยชนิดหนึ่งของต้นกระโถนพระรามคือ Tetrastigma harmandii Planch. แมลงที่ช่วยในการผสมเกสรเป็นแมลงในวงศ์ Sarcophagidae.