เข็มดอยชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กสูง ๑-๓ ม. กิ่งออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก เปลือกต้นบางผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเป็นวงรอบ ๓ ใบ แต่ที่ปลายกิ่งและใต้ช่อดอกมีปล้องสั้นมาก ทำให้ดูคล้ายใบออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ใบ ใบรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๙ ซม. ยาว ๑๔-๒๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางหรือหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนกำมะหยี่หนาแน่น ด้านบนมีสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง และมีขนสีน้ำตาลทองตามเส้นใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นหาง โคนเชื่อมติดกันมีขนสีน้ำตาลทอง
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ก้านช่อยาว ๒-๒.๕ ซม. ดอกสีเขียวอ่อนถึงสีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงมีขนหนาแน่น โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ปลายเรียวยาวคล้ายเส้นด้าย ยาว ๓-๕ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๔-๑.๗ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกยาว ๒-๒.๕ ซม. บิดเวียน ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลทอง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอกก้านชูอับเรณูโผล่พ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒.๕-๓ ซม. ชูยอดเกสรเพศเมียเหนือหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. สีเขียวเข้มเป็นมัน มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดรูปทรงกลมมี ๒ เมล็ด
เข็มดอยชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบขึ้นริมลำธาร ตามป่าดิบแล้งหรือป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๑,๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคมในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน.