จันทน์แดง ๑

Dracaena jayniana Wilkin et Suksathan

พืชคล้ายไม้ต้น ลำต้นแตกกอที่โคน ๓-๕ ลำ ตั้งตรงชิดกัน ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแน่นที่ปลายลำต้น รูปแถบแคบ ปลายเรียวแหลม โคนแผ่เป็นกาบ เส้นใบขนานกันตามยาว ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอด ตั้งตรงหรือชูขึ้น ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุกกลม ดอกสีเหลืองทองหม่น ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม เมล็ดรูปค่อนข้างกลมหรือรูปสามเหลี่ยม มีสันคม มี ๑-๓ เมล็ด

จันทน์แดงชนิดนี้เป็นพืชคล้ายไม้ต้น สูงได้ถึง ๕ ม. บางครั้งอาจพบสูงได้ถึง ๘ ม. โคนต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ลำต้นแตกกอที่โคน ๓-๕ ลำ ตั้งตรงชิดกัน แต่ละลำต้นอาจแยกแขนงไปทางปลายยอด มีรอยแผลใบทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแน่นที่ปลายลำต้น รูปแถบแคบ กว้าง ๐.๕-๑.๓ ซม. ยาว ๔๐-๗๕ ซม. ปลายเรียวแหลม ห้อยลง โคนแผ่เป็นกาบโอบหุ้มลำต้น รูปรีถึงรูปไข่ กว้างได้ถึง ๔ ซม. ยาวได้ถึง ๖ ซม. สีเขียวอ่อนถึงสีขาว เมื่อแห้งมีสีแดงซึ่งเกิดจากน้ำเลี้ยงขอบใบจักซี่ฟันถี่ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียวเข้ม เส้นกลางใบเห็นไม่ชัดหรือเห็นที่ครึ่งล่าง เมื่อใบแห้ง เส้นกลางใบกว้างประมาณ ๕ มม. หนาประมาณ ๑ มม. เส้นใบขนานกันตามยาว

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเป็น ๔ ชั้น ออกที่ปลายยอด ตั้งตรงหรือชูขึ้น ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุกกลม ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๑๐ ซม. ใบประดับที่แกนกลางช่อดอกชั้นที่ ๑ รูปไข่ ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม บางและแห้ง โคนโอบแกนกลางรองรับแขนง ๑-๓ แขนง ใบประดับที่แกนกลางช่อดอกชั้นที่ ๒ รูปไข่ ยาวได้ถึง ๔ มม. ปลายแหลม โคนใบและแผ่นใบลักษณะคล้ายใบ ดอกเป็นช่อกระจุกกลม แต่ละกระจุกมีได้ถึง ๕ ดอก ใบประดับของช่อดอกยาวได้ถึง ๒ มม. รูปไข่กว้างถึงรูปสามเหลี่ยมกว้าง บางคล้ายกระดาษ โอบหุ้มโคนก้านดอก ปลายแหลมถึงเรียวแหลม ใบประดับย่อยของดอกขนาดเท่ากับใบประดับของช่อกระจุก แต่แคบกว่า ติดที่โคนก้านดอก ก้านดอกกว้าง ๐.๒-๐.๔ มม. ยาว ๒-๔.๕ มม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๖ มม. กลีบรวมตั้งตรง เมื่อดอกบานกลีบรวมจะกางออกและปลายโค้งลงประมาณ ๑ ใน ๓ กลีบรวมโคนเชื่อมติดกัน ยาว ๐.๘-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก เรียงเป็น ๒ วง แฉกรูปไข่แคบถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๕-๖ มม. วงในกว้างกว่าวงนอกเล็กน้อย สีเหลืองทองหม่น ขอบบางและโปร่งแสง เส้นกลางกลีบสีเข้ม ปลายกลีบหนา มนและคุ่ม มีเกล็ดเล็กเกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมกับกลีบรวมจากโคนขึ้นมา ๐.๘-๑.๒ มม. ส่วนบนยาว ๓-๔ มม. สีเหลืองทองอ่อน อับเรณูสีเหลืองอ่อน รูปขอบขนานแคบ กว้าง ๐.๓-๐.๔ มม. ยาว ๑.๒-๑.๗ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปทรงกระบอกแกมรูปกระสวย กว้าง ๑.๓-๑.๕ มม. ยาว ๓.๔-๓.๖ มม. สีเหลืองทองหม่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายทรงกระบอก ยาว ๒.๒-๒.๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๐.๗ มม. จัก ๓ พู เห็นไม่ชัดก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียสีขาว

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม แบนเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ ซม. จักเป็นพูไม่ชัด มีกลีบรวมติดทน เมื่ออ่อนสีเขียวอมเทา เป็นมัน มีโคนก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่มีเส้นตามยาว ๓ เส้น เมื่อแก่อาจมีสีแดงหม่น เมื่อแห้งสีแดงคล้ำ เมล็ดรูปค่อนข้างกลมหรือรูปสามเหลี่ยมมีสันคม กว้าง ๕.๕-๘ มม. ยาว ๖.๓-๘.๕ มม. สีน้ำตาลผิวหยาบเมื่อแห้ง มี ๑-๓ เมล็ด

 จันทน์แดงชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบบนเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐–๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

 ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ น้ำเลี้ยงสีแดงเมื่อแห้งนำมาต้มดื่มบำรุงร่างกาย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์แดง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dracaena jayniana Wilkin et Suksathan
ชื่อสกุล
Dracaena
คำระบุชนิด
jayniana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wilkin, Paul
- Suksathan, Piyakaset
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wilkin, Paul (fl. 1995 )
- Suksathan, Piyakaset (fl. 1960 )
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต