ขลายเป็นไม้ต้น สูง ๓-๕ ม. เรือนยอดมักเป็นรูปกรวยคว่ำ บางทีก็แตกกิ่งไม่เป็นระเบียบ ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีดำปนเขียว แตกเป็นร่องเล็ก ๆ ทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่และรูปใบหอก กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๖-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนสอบแคบหรือมน แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างในระยะที่เป็นใบอ่อนมีขนนุ่มประปราย เมื่อใบแก่จะเกลี้ยง สีชมพูเรื่อ ๆ เมื่อใบแห้ง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายโค้งขึ้นไปจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ และเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบเส้นขั้นบันได พอมองเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. แรก ๆ จะมีขนนุ่ม
ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกเพศผู้ออกรวมเป็นช่อสั้น ๆ ก้านดอกเห็นไม่ชัด กลีบเลี้ยงยาว ๒-๓ มม. โคนกลีบติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ส่วนที่แยกเป็นแฉกยาวประมาณ ๒ เท่าของส่วนที่ติดกัน ด้านนอกมีขนเป็นมันแน่น ส่วนด้านในมีขนนุ่ม กลีบดอกยาว ๓-๔ มม. โคนกลีบติดกันเป็นรูปคนโท ส่วนที่แยกเป็นแฉกยาวประมาณครึ่งหนึ่งของส่วนที่ติดกัน มีขนเรียงเป็นแนวตรงตามยาวที่กึ่งกลางของแฉกด้านนอก เกสรเพศผู้ ๑๖-๑๘ อัน รังไข่ไม่สมบูรณ์ มีขนแข็ง ดอกเพศเมียออกเดี่ยวตามกิ่งเล็ก ๆ ก้านดอกเห็นไม่ชัด กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะเช่นเดียวกับดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่า มี ๔-๕ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม มีขนเป็นมัน มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมีขนเป็นมัน
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ผลแก่จัดแห้ง สีแดง ปลายผลเป็นติ่งแหลมสั้นคล้ายหนาม ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดทน แต่ละกลีบไม่ติดกัน กลีบโค้งพับกลับและมีขนนุ่ม ๆ ทั้ง ๒ ด้าน ก้านผลเห็นไม่ชัด ส่วนมากมีเมล็ดที่สมบูรณ์เพียงเมล็ดเดียว เมล็ดรูปไข่ สีดำเป็นมันไม่มีเยื่อหุ้ม
ขลายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคเว้นภาคเหนือ ขึ้นตามบริเวณเขาหินปูนในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐-๕๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบครั้งแรกที่กัมพูชา และแพร่พันธุ์มายังไทย เวียดนาม และจีนตอนใต้
ผลดิบใช้ย้อมผ้า แห และอวน เนื้อไม้สีขาว ใช้ทำด้ามเครื่องมือและทำเครื่องแกะสลัก.