กระโถนนางสีดาเป็นพืชเบียน อาศัยอยู่ตามรากพืชอื่นลำต้นสั้นมาก ใบไม่มีสีเขียว ลดรูปเป็นกาบหุ้มต้นและโคนดอกจำนวน ๑๐ ใบ รูปสามเหลี่ยมกว้างหรือรูปครึ่งวงกลม ปลายมน ตาดอกจะเริ่มพัฒนาอยู่ในรากของพืชให้อาศัย แล้วเจริญผ่านออกมาที่ผิวนอก
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ดอกตูมกลมหรือค่อนข้างกลม เมื่อดอกบานมีลักษณะคล้ายถ้วยขนาดใหญ่หรือคล้ายกระโถน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖.๕-๑๒ ซม. สูง ๔.๙-๗ ซม. ชั้นกลีบรวมเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๑๐ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๕ กลีบ แต่ละกลีบรูปสามเหลี่ยมมน สีแดงสด มีตุ่มหูดสีขาว หรือชมพู กว้าง ๑-๓ มม. มักมีหนาแน่นตรงโคนกลีบบริเวณใกล้กะบังถึงบริเวณกลางกลีบ กะบังมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๙-๔.๘ ซม. กว้าง ๐.๙-๑.๕ ซม. รูเปิดสีขาวหรือสีนวล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒.๕ ซม. บนกะบังมีราเมนตาเป็นริ้ว สีขาวหรือเหลืองอ่อน
กระโถนนางสีดามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นบริเวณป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนมีนาคมในต่างประเทศพบทางภาคตะวันตกของกัมพูชา พืชชนิดนี้จะพบกระจายพันธุ์เฉพาะบริเวณใต้เส้นขนานที่ ๑๖ เท่านั้น ต่างจากกระโถนฤาษี (Sapria himalayana Griff.) ซึ่งจะพบกระจายพันธุ์เหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไป
พืชให้อาศัยของต้นกระโถนนางสีดาคือ เครือเขาน้ำ [Tetrastigma leucophyllum (Dennst.) Mabb.] ซึ่งเป็นพืชให้อาศัยของกระโถนฤาษีด้วย ส่วนแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรเป็นแมลงในวงศ์ Calliphoridae หลายชนิด