ตังตาบอดเป็นไม้ต้น บางครั้งพบเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑๓ ม. เปลือกต้นมีช่องอากาศ มีน้ำยางสีขาว
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๓.๗-๑๒ ซม. ยาว ๙.๕-๒๙ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนมีต่อม ๒ ต่อมบนขอบใบ ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๒๐ เส้น ปลายโค้งเชื่อมกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑.๓-๒.๕ ซม. หูใบรูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ขอบเป็นชายครุยร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือที่ปลายยอด ใบประดับมีต่อม ๒ ต่อม ดอกสีออกเขียว กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๒๖ ซม. ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวได้ถึง ๐.๕ มม. เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑.๑ มม. ยาว ๑.๑-๑.๒ มม. เกสรเพศผู้ ๓ เกสร แยกกัน ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๑.๕ มม. อับเรณูมี ๒ ช่อง กว้าง ๐.๙-๑ มม. ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียสั้น ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้างถึงรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๑.๗ มม. ยาว ๑.๕-๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก ยาวได้ถึง ๒ มม. เมื่อเป็นผล ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒.๓ มม. โค้ง
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม สีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ ซม. แกนกลางผลยาวประมาณ ๘ มม. เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีจุกขั้วติดอยู่กับแกนกลางผลเมื่อผลแตก มี ๑-๓ เมล็ด
ตังตาบอดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าดิบ ป่าผลัดใบ มักพบใกล้น้ำที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมาและภูมิภาคอินโดจีน
ยางของพืชชนิดนี้มีพิษต่อผิวหนัง ถ้าเข้าตาอาจทำให้ตาบอด.