ช่อชมดาว

Kohautia gracilis (Wall.) DC.

ไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้โคนเรียงถี่คล้ายเป็นวงรอบ รูปแถบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ หรือรูปใบหอกแกมรูปรี เส้นกลางใบเห็นเด่นชัด หูใบระหว่างก้านใบเป็นกาบบาง ปลายเป็นสามเหลี่ยมเรียว มี ๑-๒ แฉก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกที่ยอดหรือซอกใบใกล้ยอด ช่อโปร่ง มีดอกน้อย ดอกสีขาวแกมชมพู สีขาวแกมม่วง หรือสีขาวแกมม่วงอมน้ำตาลผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี ทรงรูปไข่กลับ หรือทรงรีแกมรูปไข่ เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปคล้ายกรวย มักเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลคล้ำ

ช่อชมดาวเป็นไม้ล้มลุก สูง ๒๐-๔๕ ซม. กิ่งเรียวเล็ก ยอดมีขนสั้นแข็งหรือมีปุ่มเล็กหนาแน่นเมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้โคนเรียงถี่คล้ายเป็นวงรอบ รูปแถบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ หรือรูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๑.๕-๕ มม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๖ มม. ยาว ๓.๕-๘.๕ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๙ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มแคบ ขอบเรียบ ด้านบนสีเขียวเข้มมีปุ่มเล็กหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างสีจางกว่า เส้นกลางใบเห็นเด่นชัด แบนราบหรือเป็นร่องทางด้านบนนูนเด่นทางด้านล่าง เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด ก้านใบสั้นมากหรือเกือบไร้ก้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นกาบบางยาว ๑-๒ มม. ปลายเป็นสามเหลี่ยมเรียว มี ๑-๒ แฉก ยาว ๑-๓ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกที่ยอดหรือซอกใบใกล้ยอด ช่อโปร่งมีดอกน้อย ก้านช่อดอกค่อนข้างเรียวเล็ก ยาว ๒-๘ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๑๒ ซม. มีปุ่มเล็กหรือเกือบเกลี้ยง ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม ขนาดเล็ก ก้านดอกยาว ๐.๕-๓.๕ ซม. เรียวเล็ก มีปุ่มเล็กหรือเกือบเกลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ยาว ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลมหรือรูปลิ่มแคบ ยาว ๑-๑.๕ มม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒ มม. ขอบมีขนสั้นแข็ง ผิวมักมีขนสั้น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๗-๑ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๑.๒ ซม. หลอดส่วนล่างกว้างน้อยกว่า ๑ มม.


หลอดส่วนบนผายออกเล็กน้อย กว้าง ๑-๑.๕ มม. ปลายหลอดแยกเป็น ๔ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปแถบหรือรูปรีแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๑.๕ มม. ยาว ๓.๕-๕.๕ มม. ปลายแหลมหรือมนขอบแฉกกลีบเรียงชิดกันในดอกตูม เมื่อดอกบานแฉกโค้งลงและปลายม้วน กลีบดอกด้านในสีขาวอมเหลืองอ่อนหรือสีขาวอมชมพู มีเส้นกลางกลีบ ด้านนอกสีขาวแกมชมพู สีขาวแกมม่วง หรือสีขาวแกมม่วงอมน้ำตาล หลอดกลีบดอกด้านนอกสีม่วงอมสีน้ำตาลสีน้ำตาลอมแดง ตามหลอดกลีบดอกส่วนที่ผายอาจมีสีม่วงอมเขียว เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอกบริเวณส่วนที่ผาย ก้านชูอับเรณูสั้นมากอับเรณูรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว ๒-๒.๕ มม. ติดด้านหลัง ปลายมีรยางค์สั้น โผล่ไม่พ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรีแกมรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นแข็ง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๒.๕-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๒-๓ มม. ปลายยอดอยู่ต่ำกว่าโคนอับเรณู

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงรีแกมรูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๖ มม. เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปคล้ายกรวย ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มักเป็นเหลี่ยมสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลคล้ำ

 ช่อชมดาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามทุ่งหญ้า ที่โล่งไหล่เขาริมลำธาร เขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑๘๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และเมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช่อชมดาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Kohautia gracilis (Wall.) DC.
ชื่อสกุล
Kohautia
คำระบุชนิด
gracilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์