จันทน์ชะมด ๒

Mansonia gagei J. R. Drumm.

ชื่ออื่น ๆ
จันทน์ (ประจวบคีรีขันธ์); จันทน์ขาว, จันทน์พม่า, จันทน์หอม (ทั่วไป)
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ กิ่งอ่อนมีขนประปราย เปลือกสีขาวอมน้ำตาล ผิวเรียบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือใกล้ปลายกิ่งดอกสีขาวหรือสีนวล ผลแบบผลปีกเดียว มี ๑ เมล็ด

จันทน์ชะมดชนิดนี้เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งอ่อนมีขนประปรายเปลือกสีขาวอมน้ำตาล ผิวเรียบ เนื้อไม้สีขาวหรือขาวอมเหลือง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๘-๑๔ ซม. ปลายแหลม โคนตัดหรือหยักเว้าและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเป็นคลื่นและจักฟันเลื่อยห่าง ๆ บริเวณค่อนไปทางปลายใบ แผ่นใบค่อนข้างหนาและมักเป็นสีเขียวอ่อนเมื่อแห้ง ใบอ่อนมีขนประปราย เส้นโคนใบ ๓ เส้น บางครั้งพบมี ๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. เมื่อแห้งเป็นสีดำ มีขนสากประปราย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือใกล้ปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๑๕ ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วย ยาว ๑-๑.๓ ซม. ด้านหนึ่งแยกจากกัน ด้านนอกมีขน กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวหรือสีนวลรูปช้อนหรือรูปใบหอกกลับ ยาว ๑-๑.๓ ซม. เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่บนก้านชูเกสรร่วม เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๑๐ เกสร ติดสลับกับเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๕ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ รังไข่ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวและโค้งออก ยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม

 ผลแบบผลปีกเดียว กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปีกรูปดาบโค้ง กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. แต่ละผลมี ๑ เมล็ด

 จันทน์ชะมดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบแล้งและตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนตุลาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียและเมียนมา

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก สกัดน้ำมันหอมระเหย ใช้ทำน้ำหอม ทำเครื่องสำอาง และทำดอกไม้จันทน์.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์ชะมด ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mansonia gagei J. R. Drumm.
ชื่อสกุล
Mansonia
คำระบุชนิด
gagei
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Drummond, James Ramsay
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1851-1921)
ชื่ออื่น ๆ
จันทน์ (ประจวบคีรีขันธ์); จันทน์ขาว, จันทน์พม่า, จันทน์หอม (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย