คันแหลน ๑

Spathiostemon moniliformis Airy Shaw

ชื่ออื่น ๆ
กระดูกช้าง, กาไล, ค่าขาว (สุราษฎร์ธานี); คัดไล (ระนอง)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ มีต่อม ๒-๓ ต่อมที่โคนขอบใบแต่ละด้าน ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบหรือใกล้ปลายยอด สีขาวหรือสีออกเหลือง ไม่มีกลีบดอก และจานฐานดอก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมสีออกแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม มี ๓ พู เมื่อแก่แตกตามรอยประสานออกเป็นเสี่ยง แต่ละเสี่ยงแยกเป็น ๒ ส่วน เมล็ดรูปไข่กลับ

คันแหลนชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. มีขนทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๓-๙.๕ ซม. ยาว ๖-๒๖.๕ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมหรือยาวคล้ายหาง ปลายสุดมนหรือแหลมและเป็นติ่งหนามสั้น โคนมน มีต่อมเล็กสีดำ ๒-๓ ต่อม ที่โคนขอบใบแต่ละด้าน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษเกลี้ยง ด้านบนเมื่อแห้งมักมีสีเขียว ด้านล่างสีจางกว่า เส้นใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น แต่ละเส้นโค้งไปเชื่อมต่อกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง หูใบกว้าง ประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๒.๔ มม. ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบหรือใกล้ปลายยอด มักเป็นช่อเดี่ยว ช่อดอกเพศผู้ห้อยลง ยาว ๖-๒๘ ซม. ส่วนช่อดอกเพศเมียตั้งขึ้นยาวได้ถึง ๓.๓ ซม. ดอกสีขาวหรือสีออกเหลือง สมมาตรตามรัศมี ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอกใบประดับย่อยในดอกเพศผู้เป็นรูปหัวใจกางออกและเรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็นรูปถ้วย ดอกเพศผู้ไม่มีก้านกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่หรือรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒.๔-๒.๕ มม. เกสรเพศผู้มีมากกว่า ๑๐๐ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม ๔-๗ กลุ่ม ปลายเป็นง่าม ก้านชูอับเรณูทั้งส่วนที่เชื่อมกันและแยกกันยาวได้ถึง ๕ มม. อับเรณูกว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๔ มม. ดอกเพศเมียมีก้านยาวประมาณ ๐.๓ มม. กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ รูปไข่ เรียงขั้นละ ๓ กลีบ กลีบวงนอกกว้าง ประมาณ ๑.๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๗ มม. หนาและเป็นสัน กลีบวงในบางและมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๐.๖ มม. ยาวประมาณ ๐.๘ มม. ผิวเรียบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ พู ไม่แยกกัน

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม มี ๓ พู กว้าง ประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. ผิวเรียบ เกลี้ยงสีออกแดงหรือสีนํ้าตาลเข้ม เมื่อแก่แตกตามรอยประสานออกเป็นเสี่ยง แต่ละเสี่ยงแยกเป็น ๒ ส่วน เมล็ดรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. ไม่มีเยื่อหุ้ม

 คันแหลนชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบทั่วไปในป่าดิบ ป่ารุ่น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คันแหลน ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Spathiostemon moniliformis Airy Shaw
ชื่อสกุล
Spathiostemon
คำระบุชนิด
moniliformis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Airy Shaw, Herbert Kenneth
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1902-1985)
ชื่ออื่น ๆ
กระดูกช้าง, กาไล, ค่าขาว (สุราษฎร์ธานี); คัดไล (ระนอง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต