กระถินพิมาน

Acacia tomentosa Willd.

ชื่ออื่น ๆ
กระถินป่า, กระถินวิมาน (สุโขทัย); คะยา, หนามขาว (เหนือ)
ไม้ต้น ผลัดใบ กิ่งอ่อน ใบ และก้านช่อดอกมีขน ตามกิ่งมีหนามยาว ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ มีต่อมขนาดใหญ่ระหว่างรอยต่อของช่อแขนงใบคู่ล่างสุด ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ดอกเป็นหลอดสีขาวฝักแบน โค้งงอ

กระถินพิมานชนิดนี้เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๕-๑๕ ม. พุ่มเรือนยอดโปร่งแผ่กว้างคล้ายรูปร่ม กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่นตามกิ่งมีหูใบแปลงรูปเป็นหนามแหลมแข็ง ยาวได้ถึง ๔.๕ ซม.

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนกลางยาว ๓-๙ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๐.๖-๑ ซม. มีต่อมขนาดใหญ่ที่ปลายก้านตรงรอยต่อระหว่างแขนงคู่ล่างสุด ใบประกอบแยกแขนง ๗-๒๓ คู่ ยาว ๐.๙-๒.๕ ซม. แต่ละแขนงมีใบย่อย ๒๐-๕๐ คู่ เรียงตรงข้ามชิดกัน ใบย่อยรูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. ปลายมน โคนเบี้ยวแผ่นใบมีขนทั้ง ๒ ด้าน ไม่มีก้านใบย่อย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ๑-๔ ช่อ กลิ่นหอมอ่อน ก้านช่อดอกยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนดอกเล็ก สีขาว มีจำนวนมาก ออกชิดกันแน่นบนแกนช่อกลมคล้ายช่อดอกกระถิน เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก ๐.๙-๑.๓ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔-๕ กลีบ เล็กมาก ติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม

 ฝักแบนแคบ รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘-๑.๑ ซม. ยาว ๙-๑๒ ซม. ฝักแก่สีน้ำตาล โค้งงอ มีหลายเมล็ด รูปไข่ กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๗-๙ มม.

 กระถินพิมานชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าละเมาะและป่าเบญจพรรณที่ แห้งแล้ง ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย

 เปลือกมีสารฝาด นอกจากนี้ ยังมี pyrogallol และ Catechol อยู่ด้วย (กรมป่าไม้, ๒๕๒๗) ใช้ฟอกหนัง

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระถินพิมาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acacia tomentosa Willd.
ชื่อสกุล
Acacia
คำระบุชนิด
tomentosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1765-1812)
ชื่ออื่น ๆ
กระถินป่า, กระถินวิมาน (สุโขทัย); คะยา, หนามขาว (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข