ต้างนกชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. กิ่งมีหนามสั้น
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคี่ ยาวประมาณ ๖๐ ซม. เรียงเวียน ก้านใบประกอบยาว ๕-๑๕ ซม. ใบประกอบชั้นที่ ๒ เรียงตรงข้าม มีใบย่อย ๕-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนถึงมนกลม ขอบจักฟันเลื่อยถี่ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ปลายเชื่อมเข้าหากัน เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบย่อยยาว ๑-๓ มม. เกลี้ยง หูใบอยู่ในซอกก้านใบ ติดทน
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๒๐ ซม. ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม มี ๖-๒๓ ช่อ ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๒ ซม. แต่ละช่อย่อยมี ๗-๑๕ ดอก ใบประดับรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกยาวได้ถึง ๔ ซม. ติดทน ดอกสีเขียว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ถึงรูปใบหอก เรียงจดกัน กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. เกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เรียงสลับกับกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ มม. เชื่อมติดกันที่โคน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๒.๕-๓ มม. ก้านช่อผลยาว ๑-๓ ซม. มีขนประปราย แต่ละช่อย่อยมี ๕-๑๐ ผล ก้านผลยาว ๓-๕ มม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ยาวประมาณ ๑ มม. เมล็ดค่อนข้างแบน มีได้ถึง ๕ เมล็ด
ต้างนกชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา จีน และเวียดนาม.