จันทน์คันนา

Psychotria adenophylla Wall.

ชื่ออื่น ๆ
ตะแน (สกลนคร); พุดน้ำ (สุราษฎร์ธานี)
ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก ร่วงเมื่อแก่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่งช่อย่อยแบบช่อกระจุกสั้น ดอกเล็ก สีขาวหรือสีขาวอมเขียว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี ทรงรูปไข่กลับ หรือเกือบกลม สุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดมีเกราะแข็ง รูปเกือบกลม แบนข้าง

จันทน์คันนาเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. กิ่งแก่เกลี้ยงใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๗ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๗ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบคล้ายเป็นเส้นขอบใน เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๘-๒ ซม. เกลี้ยง หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก ยาว ๖-๘ มม. ปลายมน โคนตัดหรือมน ร่วงเมื่อแก่

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่ง ช่อยาว ๖-๑๖ ซม. แกนช่อยาวได้ถึง ๑๓ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุกสั้น ยาว ๑-๓ มม. และมักออกตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ใบประดับและใบประดับย่อยเล็ก ร่วงง่าย ดอกเล็ก ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๑-๑.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปากหลอดผายคล้ายระฆัง ปลายหยักซี่ฟันเล็ก ๕ หยัก เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกสีขาวหรือสีขาวอมเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ถึง ๒ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน คอหลอดกลีบดอกมีขนหนาแน่นเป็นวงรอบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ขอบกลีบจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอกเรียงสลับกับแฉกกลีบดอก โผล่พ้นปากหลอดดอก ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูรูปรี ยาวประมาณ ๐.๖ มม. จานฐานดอกเกลี้ยง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู ค่อนข้างแบนและตั้งตรง

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี ทรงรูปไข่กลับ หรือเกือบกลม กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๖-๘ มม. เกลี้ยง สุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดมีเกราะแข็ง รูปเกือบกลม แบนข้าง

 จันทน์คันนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบในที่ค่อนข้างชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมาภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์คันนา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Psychotria adenophylla Wall.
ชื่อสกุล
Psychotria
คำระบุชนิด
adenophylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1786-1854)
ชื่ออื่น ๆ
ตะแน (สกลนคร); พุดน้ำ (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์