กระถินเทศเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๔ ม. ลำต้นและกิ่งสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเทา มีช่องอากาศสีน้ำตาลหรือสีนวลกระจายอยู่ทั่วไป กิ่งมักคดไปมาแต่จะยืดจนเกือบตรงเมื่อเจริญขึ้น
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ มีขนนุ่มประปราย ก้านใบประกอบและแกนกลางด้านบนเป็นร่องตามยาวตลอดแนว แกนกลางยาว ๒-๘ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๑-๑.๕ ซม. มีต่อมเล็กกลมนูน ๑ ต่อม อยู่ประมาณกึ่งกลางของความยาวก้านใบ โคนก้านใบมีหูใบที่เปลี่ยนรูปเป็นหนามแหลมตรงและแข็ง ๑ คู่ ยาว ๐.๕-๓ ซม. ใบประกอบแยกแขนง ๒-๘ คู่ ส่วนใหญ่เป็น ๕-๖ คู่ แต่ละแขนงกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. ก้านแขนงสั้นมาก แต่ละแขนงมีใบย่อย ๘-๒๑ คู่ รูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๘ มม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งหนาม โคนตัดหรือมน เบี้ยวขอบเรียบ ก้านใบย่อยสั้นมากหรือไม่มี
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตามง่ามใบกลุ่มละ ๒-๕ ช่อ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. มีใบประดับเล็ก ๆ เรียงเป็นวงอยู่ด้านล่างของช่อดอก ก้านช่อดอก ยาว ๒.๕-๔ ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ จำนวนมาก สีนวล กลิ่นหอมมาก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ มม. โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกยาวประมาณ ๓ มม. โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก สีเหลือง ยาว ๕-๘ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก
ฝักตรงหรือโค้งเล็กน้อย รูปทรงกระบอก ยาว ๔-๗.๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. โคนฝักสอบ ปลายแหลม ผิวเรียบระหว่างเมล็ดคอดเล็กน้อย ฝักแก่ไม่แตก มีเมล็ดประมาณ ๑๕ เมล็ด เรียงเป็น ๒ แถว สีน้ำตาลเป็นมัน รูปรี กว้างประมาณ ๖ มม. ยาว ๗-๘ มม.
กระถินเทศเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกาเขตร้อน นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานมาแล้วและแพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วทุกภาคตามที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมถึงและตามริมฝั่งน้ำ ปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม จะให้ดอกเมื่ออายุประมาณ ๓ ปี
ในฝรั่งเศสปลูกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทำน้ำหอม เป็นพืชสมุนไพรโดยใช้เปลือกเป็นยาฝาดสมาน แก้ไอ และริดสีดวงทวาร
ดอกกระถินเทศมีน้ำมันระเหยง่ายเรียกว่า Cassie oil ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบหลักคือ benzyl alcohol, methyl salicylate, farnesol, linalool และ geraniol ส่วนสารอื่นที่มีปริมาณน้อยมีมากกว่า ๔๐ ชนิด ที่สําคัญคือ cis-3-me-thyl-dec-3-en-l-ol ซึ่งเป็นสารที่ทำให้น้ำมันดอกกระถินเทศมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เหมาะสําหรับใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอมที่มีราคาแพง น้ำมันดอกกระถินเทศยังใช้แต่งกลิ่นอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน และลูกกวาด เป็นต้น แต่ต้องใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่าร้อยละ ๐.๐๐๒ (Leung, 1980).