จันทน์กะพ้อแดง

Vatica maingayi Dyer

ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่นสีสนิม กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก ก้านใบอวบหนาและงอที่ปลาย มีขนสั้นหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีแดงอมชมพู โคนสีเหลือง มี ๕ กลีบ ปลายกลีบบิดเล็กน้อย มีกลิ่นหอม ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปค่อนข้างกลม มีขนสั้นหนาแน่นสีสนิม โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทนเป็นปีก ๕ ปีก ปีกยาว ๒ ปีก รูปแถบยาวหรือรูปใบหอกกลับ และปีกสั้น ๓ ปีก รูปใบหอกแกมรูปไข่ ผลอ่อนมีปีกสีแดงเข้มหรือสีชมพูเข้ม ผลแก่แห้ง ปีกสีน้ำตาล เมล็ดรูปคล้ายผลมี ๑ เมล็ด

จันทน์กะพ้อแดงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม.ลำต้นเปลาตรง โคนมีพูพอนเล็กน้อย สูงได้ถึง ๓๐ ซม. เปลือกขรุขระ แตกเป็นสะเก็ดหรือเรียบและมีรอยควั่นโดยรอบ สีน้ำตาลเทา หนาประมาณ ๒ มม. เปลือกชั้นในสีชมพูอมส้ม หนา ๓-๕ มม. มีชันสีขาวใส กิ่งอ่อนมีขนสั้นหนาแน่นสีสนิม ร่วงง่าย กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบอ่อนสีแดงอมชมพู รูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม ยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันเงา เกลี้ยง ด้านล่างสีเขียวซีด เกลี้ยง ใบแห้งสีน้ำตาลแดง เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งเรียว เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบ ยาว ๑.๕-๒ ซม. อวบหนาและงอที่ปลาย มีขนสั้นหนา



แน่นสีสนิมหรือมีขนเฉพาะที่ปลายก้าน หูใบสีแดงอมชมพู รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ปลายแหลม มีขนสั้นหนาแน่นสีสนิมทั้ง ๒ ด้าน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑-๓ ซม. มีขนสั้นหนาแน่นสีสนิม ดอกตูมรูปทรงกระบอก ปลายมน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นหนาแน่นสีสนิม ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ใบประดับย่อยรูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดใกล้เคียงกัน รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลมหรือค่อนข้างมน มีขนสั้นหนาแน่นสีสนิมทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกสีแดงอมชมพู โคนสีเหลืองมี ๕ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๔.๕-๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมน บิดเล็กน้อย ด้านนอกมีขนสั้นหนาแน่นสีสนิม ด้านในเกลี้ยง ดอกเมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีกลิ่นหอมเกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร เรียงซ้อนกันเป็นคู่ ๑๐ เกสร เกสรด้านในยาวกว่าเกสรด้านนอก และเรียงสลับกับเกสรเดี่ยวอีก ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูเป็นแผ่นแบนกว้างปลายคอดเป็นติ่งสั้นสู่โคนอับเรณู เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มี ๔ พู เกลี้ยง พูคู่ในยาวประมาณครึ่งหนึ่งของพูคู่นอก ปลายอับเรณูมีรยางค์เป็นติ่งสั้นเกลี้ยง โคนหนา รังไข่อยู่กึ่งใต้วงกลีบ รูปค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๓-๑.๕ มม. ยาว ๑-๑.๒ มม.มีขนสั้นหนาแน่นสีสนิม โคนเกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง ปลายแผ่กว้าง ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยคว่ำ

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๗ ซม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีขนสั้นหนาแน่นสีสนิม ปลายมีก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นติ่งแหลมติดทน โคนมีกลีบเลี้ยงติดทนเป็นปีก ๕ ปีก ปีกยาว ๒ ปีก รูปแถบยาวหรือรูปใบหอกกลับกว้าง ๐.๙-๑.๔ ซม. ยาว ๕-๗.๕ ซม. ปลายมนหรือมนแกมแหลม โคนปีกมน ขอบปีกที่โคนเรียงจดกัน มีเส้นปีก ๕ เส้น และมีปีกสั้น ๓ ปีก รูปใบหอกแกมรูปไข่กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๗ ซม. ปลายแหลม โคนปีกมน ผลอ่อนมีปีกสีแดงเข้มหรือสีชมพูเข้ม ผลแก่แห้งปีกสีน้ำตาล ก้านผลยาว ๕-๖ มม. เมล็ดรูปคล้ายผลมี ๑ เมล็ด

 จันทน์กะพ้อแดงเป็นพรรณไม้หายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบที่ความสูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายน ผลแก่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซียเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียวตอนบน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์กะพ้อแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vatica maingayi Dyer
ชื่อสกุล
Vatica
คำระบุชนิด
maingayi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dyer, William Turner Thiselton (Thistleton)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1843-1928)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายมานพ ผู้พัฒน์