คันหามเสือ ๑

Aralia armata (Wall, ex G. Don) Seem.

ชื่ออื่น ๆ
กรามแรด, คานหามเสือ (ใต้)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำตันมีหนาม กิ่งอ่อนและช่อดอกอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นหรือสามชั้น หรือที่ปลายเป็นแบบขนนกชั้นเดียว ใบย่อยรูปไข่ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่งด้านข้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่นหรือช่อซี่ร่ม ดอกเล็ก สีขาวผลแบบ ผลผนังฉันในแข็ง รูปทรงกลม สุกสีเหลืองถึงสีส้มเมล็ดแบนด้านข้าง

คันหามเสือชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๑๒ ม. มักไม่แตกกิ่ง ลำต้นมีหนาม กิ่งอ่อนและช่อดอกอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นหรือสามชั้น หรือที่ปลายเป็นแบบขนนกชั้นเดียว ยาวประมาณ ๑ ม. ก้านใบและแกนกลางใบมีหนามใหญ่ปนกับขนสั้น ๆ แต่ภายหลังขนจะร่วง ใบย่อยรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๔.๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบจักฟันเลื่อย ใต้ใบมีขนสั้น ๆ และหยาบจำนวนมาก

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อซี่ร่มเชิงประกอบยาวประมาณ ๓๐ ซม. แตกกิ่งก้านมาก ออกตามปลายกิ่งด้านข้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่นหรือช่อซี่ร่มดอกเล็ก ก้านดอกยาวไม่เกิน ๘ มม. มีขน ดอกสมบูรณ์เพศอาจมีดอกเพศผู้ปนอยู่บ้าง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือรูปกรวย โคนกลีบด้านในเชื่อมติดกับรังไข่ ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว ขนาดเล็ก ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร มีจานฐานดอกแบนหรือนูนเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มี ๒-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มีสันตามยาว ๕ สัน สุกสีเหลืองถึงสีส้ม เมล็ดแบนด้านข้าง

 คันหามเสือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คันหามเสือ ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aralia armata (Wall, ex G. Don) Seem.
ชื่อสกุล
Aralia
คำระบุชนิด
armata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
- Seemann, Berthold Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
- Seemann, Berthold Carl (1825-1871)
ชื่ออื่น ๆ
กรามแรด, คานหามเสือ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.จิรายุพิน จันทรประสงค์