เข็มขาว

Tarenna collinsiae Craib

ชื่ออื่น ๆ
คันคาก (ตะวันออก); พลองดง (กลาง); ยาญวนหิน, สมิงคำราม, หมีคำราม (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนมักเป็นเหลี่ยมใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เมล็ดทรงรูปไข่ แบนหรือนูนเล็กน้อย มีขนาดเล็ก

เข็มขาวเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๔ ม. กิ่งอ่อนมักเป็นเหลี่ยม เปลือกต้นเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ ยาว ๕-๗ มม. ปลายเรียวแหลม ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ๒.๕-๔ ซม. มีดอกน้อย ก้านดอกยาว ๔-๕ มม. ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมหรือรูปลิ่มแคบ ด้านนอกเกลี้ยง สีเขียวอ่อน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๘-๑ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในส่วนปลายมีขนกำมะหยี่ประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดภายในหลอดกลีบดอกก้านชูอับเรณูสั้น โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. เกลี้ยงสีเขียวเข้ม มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดทรงรูปไข่แบนหรือนูนเล็กน้อย มีขนาดเล็ก

 เข็มขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งป่าดิบเขา และตามเกาะต่าง ๆ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tarenna collinsiae Craib
ชื่อสกุล
Tarenna
คำระบุชนิด
collinsiae
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
คันคาก (ตะวันออก); พลองดง (กลาง); ยาญวนหิน, สมิงคำราม, หมีคำราม (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ