ต้างเจ็บเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๕ ม. มีหนามกระจายทั่วลำต้น กิ่งมีขุยและขนสั้นนุ่ม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปมือ ปลายแยกเป็น ๖-๙ แฉก ทั้งใบกว้าง ๒.๓-๕ ซม. ยาว ๑๕-๓๖ ซม. แต่ละแฉกรูปใบหอกแคบหรือรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนตัดถึงรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขุยที่เส้นกลางแฉกใบ เส้นกลางแฉกนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นจากโคนใบ ๖-๙ เส้น แต่ละเส้นมีเส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ปลายเส้นแขนงใบชิดขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๖-๓๖ ซม. มีขน หูใบอยู่ในซอกก้านใบ รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๑-๕.๕ ซม. ติดทน
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาว ๓-๔.๕ ซม. แต่ละช่อย่อยมีประมาณ ๕๐ ดอก ดอกสีขาวแกมสีเขียวอ่อน ใบประดับรูปสามเหลี่ยม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๖-๗ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม ยาวได้ถึง ๑.๕ มม. กลีบดอก ๖-๗ กลีบ เรียงจดกันในดอกตูม แต่ละกลีบรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. เกสรเพศผู้ ๖-๗ เกสร ก้านชูอับเรณูแบน ยาวได้ถึง ๒ มม. อับเรณูรูปไต กว้างประมาณ ๒.๗ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๖-๑๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมถึงทรงรูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๔ มม. ก้านช่อยาว ๑๔-๑๗ ซม. มีขน แต่ละช่อย่อยมี ๒๐-๓๐ ผล ก้านผลสั้นมาก มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน ยาวประมาณ ๒ มม. เมล็ดค่อนข้างแบน
ต้างเจ็บเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบแล้ง ใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม.