ช้องแมว ๒

Gmelina tomentosa H. R. Fletcher

ไม้พุ่ม กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม ขอบมน มีหนาม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม มีขนสั้นหนานุ่ม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง กลีบดอกรูปปากเปิด ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่ม

ช้องแมวชนิดนี่เป็นไม้พุ่ม สูง ๒.๕-๓ ม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม ขอบมน มีหนามยาวประมาณ ๕ มม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น กิ่งแก่มีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่มหรือรูปสามเหลี่ยม ขอบเรียบหรือมีหยักข้างละ ๑-๒ หยัก แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นหนานุ่มทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีต่อมขนาดเล็กประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เห็นชัดเจนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแหก้านใบเรียวเล็ก ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒-๕ ซม. ก้านช่อดอกสั้น ก้านและแกนช่อดอกมีขนสั้นหนานุ่ม ก้านดอกสั้นมาก ใบประดับรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. มีขนสั้นหนานุ่มทั้ง ๒ ด้าน ดอกสีเหลือง มีจำนวนมากกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่มและมีต่อมด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๔ แฉก กลีบดอกรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ ซม. ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่มสีน้ำตาลและมีต่อม ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ปลายแฉกมนแยกเป็นซีกบน ๑ แฉก กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. ซีกล่าง ๓ แฉก ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดในหลอดกลีบดอก โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน คู่ยาวยาว ๒.๑-๒.๒ ซม. ติดเหนือโคนหลอดดอกประมาณ ๙ มม. คู่สั้นยาวประมาณ ๑ ซม. ติดเหนือโคนหลอดดอกประมาณ ๘ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๒.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ช้องแมวชนิดนี่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกและภาคกลาง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมยังไม่มีข้อมูลการติดผล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้องแมว ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gmelina tomentosa H. R. Fletcher
ชื่อสกุล
Gmelina
คำระบุชนิด
tomentosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fletcher, Harold Roy
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1907-1978)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี