จันทน์กะพ้อ

Vatica diospyroides Symington

ชื่ออื่น ๆ
เขี้ยวงูเขา (พังงา); จันทน์ตะพ้อม, จันพอ (กลาง); จันทน์พ้อ (ใต้)
ไม้ต้น ลำต้นเปลาตรง อาจคดงอเล็กน้อย ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก หูใบเล็กร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีนวลเมื่อบานมีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งไม่แตก ทรงรูปไข่หรือค่อนข้างกลม ปลายเป็นติ่งแหลม เปลือกแข็งคล้ายไม้ มีกลีบเลี้ยงติดทน มี ๑ เมล็ด

จันทน์กะพ้อเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง อาจคดงอเล็กน้อยเปลือกเรียบ สีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลแกมเทา เปลือกในสีชมพูอ่อน แก่นสีเหลืองซีด กิ่งอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลอมแดงหรือสีสนิมหนาแน่น กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหแกมขั้นบันได ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๔-๕ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น ดอกตูมรูปใบหอก ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนหนาแน่น ดอกบานมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว ๔-๕ มม. ปลายเรียวแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลอมแดงหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวหรือสีนวล เรียงซ้อนกันแบบบิดเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร เรียงเป็น ๒ วง อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่กึ่งใต้วงกลีบ รูปค่อนข้างกลม


เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ มม. มีขนสั้นหนาแน่นมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวใกล้เคียงกับรังไข่ ยอดเกสรเพศเมียหยักเป็นพูตื้น ๆ ๖ พู

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก ทรงรูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม เปลือกแข็งคล้ายไม้ หนา ๒-๓ มม. ผิวเรียบ มีขุยสีน้ำตาลแกมแดงหนาแน่น มีกลีบเลี้ยงติดทน รูปไข่ หยิกงอเล็กน้อย ปลายเรียวแหลม กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้น โคนเชื่อมติดกันและซ้อนเหลื่อมกันเล็กน้อย มี ๑ เมล็ด

 จันทน์กะพ้อมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลางและภาคใต้ พบขึ้นตามป่าบึงน้ำจืดหรือป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลไม่เกิน ๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม ภาคกลางนิยมปลูกจันทน์กะพ้อเป็นไม้ดอกหอมในต่างประเทศพบที่เวียดนามตอนบน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันทน์กะพ้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vatica diospyroides Symington
ชื่อสกุล
Vatica
คำระบุชนิด
diospyroides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Symington, Colin Fraser
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1905-1943)
ชื่ออื่น ๆ
เขี้ยวงูเขา (พังงา); จันทน์ตะพ้อม, จันพอ (กลาง); จันทน์พ้อ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายมานพ ผู้พัฒน์