คันธุลี

Tylophora indica (Burm. f.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ชุนพูน (นครพนม); เถาหนาม (สุราษฎร์ธานี); ท้าวพันราก, หน่วยไส้เดือน (ชุมพร)
ไม้เถา ทุกส่วนมียางมีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มหรือช่อซี่ร่มแยกแขนงสั้น ๆ เป็นพวง ออกตามซอกใบ ดอกมีเขียวอ่อนหรือมีเขียวอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอก ปลายเรียวแหลม เมล็ดแบนรูปทรงรี ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว

คันธุลีเป็นไม้เถา แยกสาขามากพาดไปตามพื้นดินหรือตามไม้พุ่มอื่น ๆ ทุกส่วนมียางสีขาว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอกกว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๓.๕-๙ ซม. ปลายมนมีติ่งแหลมหรือแหลมถึงเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงหรือมีขนละเอียด เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ก้านใบยาว ๐.๔-๑.๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มหรือช่อซี่ร่มแยกแขนงสั้น ๆ เป็นพวง ออกตามซอกใบเกือบตลอดกิ่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๕ มม. ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงมี ๕ กลีบ รูปใบหอกแคบ ยาว ๓-๔ มม. ขอบมีขน กลีบดอกสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลือง มักมีสีม่วงแดงบริเวณกลางและโคนกลีบ โคนเชื่อมติดกันแผ่ในแนวระนาบปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ปลายมนหรือแหลม เส้าเกสรเป็นแท่นเตี้ยรูปกลมแป้น ประกอบด้วยรยางค์ ๕ อัน เชื่อมกับเกสรเพศผู้ เรียงต่อกันเป็นวงล้อมรอบเกสรเพศเมีย รยางค์รูปไข่ค่อนข้างหนา ปลายงุ้มกลุ่มเรณูขนาดเล็ก อยู่เป็นคู่ รูปกลมรี เรียงตัวในแนวนอนมีก้านสั้น ปุ่มยึดกลุ่มเรณูสีนํ้าตาลเข้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ คู่ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น เชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มยอดมน

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอกปลายเรียวแหลม กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. เมล็ดรูปทรงรี แบน ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว

 คันธุลีในประเทศไทย มี ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์ที่ต้นและใบมีขน [T. indica (Burm. f.) Merr. var. indica] และพันธุ์ที่ต้นและใบเกลี้ยง [T. indica (Burm. f.) Merr. var. glabra (Decne.) Huber] ทั้ง ๒ พันธุ์ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามที่โล่งหรือชายป่าที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คันธุลี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tylophora indica (Burm. f.) Merr.
ชื่อสกุล
Tylophora
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent)
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent) (1734-1793)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ชุนพูน (นครพนม); เถาหนาม (สุราษฎร์ธานี); ท้าวพันราก, หน่วยไส้เดือน (ชุมพร)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง