งวงช้างทะเลเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๖ ม. ผิวแตกเป็นร่องตื้น เปลือกสีเทาอ่อน ส่วนที่ยังอ่อนและส่วนยอดมีขนสีเงินหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน และอยู่ชิดกันเป็นกลุ่มโดยเฉพาะตามปลายกิ่ง รูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๙ ซม. ยาว ๓-๒๗ ซม. ปลายมนหรืออาจมีติ่ง โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสีเงินคล้ายเส้นไหมหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. หรือสั้นมาก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง คล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามปลายกิ่ง กว้าง ๙-๑๐ ซม. ยาว ๘-๑๒ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นหนาแน่น ก้านช่อดอกยาว ๓-๑๔ ซม. ก้านช่อแขนงด้านล่างยาวประมาณ ๓ ซม. ด้านบนสั้นกว่าและปลายช่อม้วนเข้า แต่ละแขนงมีช่อย่อยแบบช่องวงแถวคู่ ช่อดอกย่อยยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ก้านช่อดอกย่อยยาว ๒-๕ มม. แต่ละช่อมีดอกเล็กจำนวนมาก สีขาวหรือสีขาวอมเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๓-๔ มม. มีกลิ่นหอมอ่อน ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปช้อน ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยงกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย กว้างประมาณ ๑ มม.ยาว ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๒-๓ มม. ขอบกลีบซ้อนเหลื่อมกัน ด้านนอกช่วงล่างมีขนทั่วไป เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณู รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว ๐.๘-๑ มม. ส่วนโคนกาง
ผลแบบผลเปลือกแข็ง มีขนาดเล็ก รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. ผิวเรียบ เกลี้ยงสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ผนังผลชั้นนอกบาง มีจานฐานดอกและกลีบเลี้ยงขยายขนาดและติดทน มี ๒-๔ เมล็ด
งวงช้างทะเลเป็นพรรณไม้หายากของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามบริเวณหาดทรายด้านบนหรือหาดทรายที่ยกตัวขึ้นสูงจากระดับทะเล ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบตั้งแต่เขตทวีปแอฟริกาตะวันออก อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา ภูมิภาคมาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์.