กรรณิการ์เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงประมาณ ๒ ม. กิ่ง เป็นสี่เหลี่ยม มีขนสาก
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๓.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบหรือจักแหลมใกล้โคนใบ แผ่นใบหนาสากคายมือ มีขนแข็งตามแผ่นใบและเส้นใบ ตามขอบใบอาจมีขนแข็ง เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น ปลายจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๑.๕-๑ ซม.
ช่อดอกออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว ๑.๒-๒ ซม. มีใบประดับรูปคล้ายใบเล็ก ๆ ๑ คู่ แต่ละช่อมี ๓-๗ ดอก กลิ่นหอม บานตอนเย็นและจะร่วงตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่มีก้านดอกแต่ละดอกมีใบประดับ ๑ ใบ ดอกตูมมีแฉกกลีบดอกเรียงซ้อนกันและบิดเป็นเกลียว กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ติดกันเป็นหลอด รูปกรวยปลายตัดหรือหยักตื้น ๕ หยัก ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสีแสด ยาว ๑.๑-๑.๓ ซม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนยาวสีขาวที่โคนหลอด ปลายแยก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่หรือกลม ค่อนข้างแบน ปลายมีติงสั้น ๆ
กรรณิการ์มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
เป็นพืชสมุนไพร ดอกมีสาร nyctanthin ให้สีเหลืองอมแสด ใช้ทำสีย้อมผ้า ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดียใช้ดอกเป็นยาขับประจำเดือน ในอินเดียใช้ใบซึ่งมีรสขมเป็นยาแก้ไข้และใช้ขับพยาธิ (Burkill, 1966) ในประเทศไทยใช้ใบสดตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ถ้ากินมากจะทำให้ระบาย (พเยาว์, ๒๕๒๖)