เข็มขนเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ ม. เกือบทุกส่วนมีขนหยาบแข็ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๑๒-๒๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบหรือมนกว้าง ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนและด้านล่างมีขนหยาบแข็งเส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๕-๘ ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง ๑ ซม. หรือไร้ก้าน ก้านดอกยาวได้ถึง ๕ มม. แต่ละช่อมี ๙-๑๒ ดอก ทุกส่วนของช่อดอกมีขน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้างและยาว ๑-๒ มม. ด้านนอกและขอบมีขนละเอียด กลีบดอกสีขาวถึงสีชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ซ้อนเหลื่อมไปทางซ้ายในดอกตูม แผ่กางออกเมื่อดอกบาน แต่ละแฉกรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายแหลมขอบม้วนลง มีขนละเอียดทางด้านนอก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดบริเวณคอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบดอกอับเรณูรูปรี ยาว ๓.๕-๔ มม. แตกตามยาว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีขนนุ่ม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่พ้นหลอดกลีบดอก ๔-๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๑.๕-๒ มม.
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปครึ่งวงกลม กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. มี ๒ เมล็ด
เข็มขนเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๙๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม.