ต้างเป็นไม้พุ่ม กึ่งมีเนื้อไม้ สูง ๑.๕-๔ ม. ลำต้นและกิ่งมีหนามหนาแน่น
ใบประกอบแบบขนนก ๓-๔ ชั้น เรียงเวียน ช่อแขนงใบชั้นสุดท้ายมีใบย่อย ๓-๕ ใบ ใบย่อยรูปไข่ รูปไข่แคบ หรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงเรียวแหลมยาว โคนกลมถึงมน ขอบจักฟันเลื่อยถี่ถึงจักฟันเลื่อยหรือจักฟันเลื่อยซ้อน มีขนครุย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบประกอบยาว ๓-๖ ซม. แกนกลางยาว ๑.๕-๕ ซม. มีขนแข็ง มีหนามหนาแน่น ก้านใบย่อยยาว ๐.๓-๓ ซม. มีขนหนาแน่น
ดอกสมบูรณ์เพศกึ่งดอกแยกเพศอยู่ร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีหนามสั้นโค้ง แกนกลางช่อดอกยาวได้ถึง ๘๐ ซม. ช่อซี่ร่มที่ปลายแกนกลางช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศและช่อซี่ร่มด้านข้างเป็นดอกเพศผู้ ช่อดอกย่อยมี ๒-๕ ช่อ แต่ละช่อมี ๑๐-๓๕ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๕ ซม. ใบประดับรูปแถบ รูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยมแคบถึงรูปใบหอก ร่วงง่าย สีเขียว กว้าง ๑.๕-๕ ซม. ยาว ๑-๕ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๒ ซม. มีขนแข็ง ขนยาวห่าง หรือหลุดร่วงไปจนค่อนข้างเกลี้ยง ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๒.๕-๕ มม. สีเขียว เรียงจดกันในดอกตูม เกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๕-๗ มม. สีเขียว เรียงจดกันในดอกตูม เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูแยกเป็นอิสระ เรียงสลับกับกลีบดอก ยาวประมาณ ๖ มม. อับเรณูรูปทรงรี ยาวประมาณ ๔ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยง มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕-๗ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ดอกเพศผู้มีขนาดเล็กกว่าดอกสมบูรณ์เพศ
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียว ทรงรูปไข่ถึงรูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เป็นร่องตามยาว ๕ ร่อง เปลือกผลเกลี้ยง มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ก้านช่อผลยาว ๑.๕-๑๐ ซม. มีขนแข็ง ก้านผลยาว ๔-๗ มม. มีเมล็ด ๕ เมล็ด
ต้างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าสน ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีนและเวียดนาม.