คันทรงเป็นไม้พุ่มหรือไม้รอเลี้อย ไม่มีหนามแตกกิ่งมาก ทุกส่วนเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓.๕-๗ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น ๆ โคนตัดหรือมน ขอบจักฟันเลื่อยแกมหยักมน แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายตามเส้นแขนงใบเส้นโคนใบ ๓ เส้น เห็นชัดเจน เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกออกที่ซอกใบ ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ช่อดอกมีดอกสมบูรณ์เพศน้อย แต่มีดอกเพศผู้มาก ก้านช่อดอกยาว ๑-๓ มม. ก้านดอกยาว ๒-๔.๕ มม. ใบประดับเล็ก รูปสามเหลี่ยมดอกสีเขียวอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม มีส่วนคล้ายจานฐานดอกสีเหลืองอมส้มอยู่เต็มภายในส่วนของโคนกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกัน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปคุ่มแคบ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มีก้านกลีบสั้น ๆ ติดที่ปากถ้วยสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. ติดตรงกับโคนกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจานฐานดอกล้อมรอบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก ในดอกเพศผู้รังไข่ลดรูปเหลือเพียงก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ๆ
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๙ มม. มี ๓ พู กลีบเลี้ยงติดทนผลแก่มักแยกเป็น ๓ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมีเมล็ด ๑ เมล็ด ก้านผลยาว ๐.๕-๑ ซม.
คันทรงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ มักพบตามชายหาดริมทะเล ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึง ๓๓๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และ แอฟริกาเขตร้อน.