ขมิ้นนาง

Flemingia macrophylla (Willd.) Prain

ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นพระ (ตะวันออกเฉียงใต้); ขมิ้นลิง, สามใบ (กลาง); มะแฮะนก (เหนือ); แลแง (นราธิวาส)
ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนละเอียดสีขาวเป็นมัน ใบประกอบรูปนิ้วมือ เรียงเวียน มีใบย่อย ๓ ใบ ใบกลางรูปขอบขนานแกมรี ถึงรูปรีแกมรูปใบหอก ใบย่อยคู่ข้างเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกสีแดงเข้ม ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานพองลม มี ๑-๒ เมล็ด

ขมิ้นนางเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๔ ม. กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนละเอียดสีขาวเป็นมัน

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน ก้านใบประกอบยาว ๔-๑๓ ซม. หูใบรูปขอบขนานปลายเรียวแหลม ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ร่วงง่าย มีใบย่อย ๓ ใบ ใบกลางรูปขอบขนานแกมรี ถึงรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๙-๒๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ แผ่นใบมีขนทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีขนมากกว่าด้านบน เส้นโคนใบ ๓ เส้น ใบย่อยคู่ข้างเบี้ยว ขนาดใกล้เคียงกับใบกลาง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๒-๕ ซม. ใบประดับรูปไข่ปลายเรียวแหลม ยาว ๓-๕ มม. ดอกรูปดอกถั่ว สีแดงเข้ม ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ ซม. โคนติดกันเป็นถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก มีขนละเอียดสีขาวเป็นมัน กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปรี กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. กลีบคู่ข้างสั้นกว่ากลีบคู่ล่าง กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณู ๙ อัน ติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เล็ก มีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๑-๒ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานพองลม กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. มีต่อมน้ำยางเป็นจุดใสสีแดงและมีขนสั้น มี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดรูปไข่แกมรูปไต สีน้ำตาลเข้ม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๒-๓ มม.

 ขมิ้นนางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๓๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโด-จีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขมิ้นนาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Flemingia macrophylla (Willd.) Prain
ชื่อสกุล
Flemingia
คำระบุชนิด
macrophylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig von
- Prain, David
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig von (1765-1812)
- Prain, David (1857-1944)
ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นพระ (ตะวันออกเฉียงใต้); ขมิ้นลิง, สามใบ (กลาง); มะแฮะนก (เหนือ); แลแง (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม