ตะพงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. เปลือกเรียบเมื่อแก่หลุดออกเป็นหย่อม ๆ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน หนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปไข่กว้าง ๔-๒๒ ซม. ยาว ๗-๒๕ ซม. ปลายมนหรือแหลมโคนมน กึ่งรูปหัวใจ หรือตัด ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนหรือค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีขน อาจมีต่อมขนาดเล็ก ๑-๒ ต่อมตรงปลายก้านใบเส้นโคนใบ ๓-๙ เส้น ช่วงบนของเส้นโคนใบมีเส้นแขนงใบแบบขนนกข้างละ ๓-๕ เส้น มีต่อมขนาดเล็กจำนวนมากตามซอกเส้นแขนงใบ ก้านใบเล็ก สีออกเหลือง ยาว ๕-๒๐ ซม. โคนป่อง มีขนสั้นนุ่ม หูใบขนาดเล็ก ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลดอาจแตกแขนงสั้น ๆ ด้านข้าง ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ดอกสีขาวหรือสีออกเหลือง ขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้มี ๑-๓ ดอกที่ซอกใบประดับ ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายหยักซี่ฟัน ๓-๕ หยัก เกสรเพศผู้ ๙-๑๑ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๗-๒.๕ มม. จานฐานดอกเป็น ๕ เหลี่ยม ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๑.๕-๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายหยักซี่ฟัน ๓-๕ หยัก ด้านนอกมีขนสั้นจานฐานดอกจักเป็นพู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ขนาดเล็ก รูปทรงรี มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียติดเหนือรังไข่ลักษณะคล้ายจาน
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็งหรือแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๔-๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. อาจจักเป็นพูตื้น ๆ มียอดเกสรเพศเมียติดทน สีเขียวอมเทา สุกสีส้มอ่อน มีขนกำมะหยี่ละเอียดผนังผลชั้นนอกหนา เป็นมัน มียางขาว เมล็ดแข็ง รูปทรงรีไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด
ตะพงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ตามที่ชื้นแฉะ หรือขึ้นปนกับไผ่ในป่าที่ถูกทำลาย ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางได้ถึง ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย เกาะสุมาตรา และบอร์เนียว
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทุกส่วนใช้เป็นสมุนไพร.