จันดงเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๐ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ เปลือกนอกสีเขียวอ่อนแกมดำ แตกเป็นร่อง เปลือกในสีน้ำตาลเข้มถึงสีค่อนข้างดำ กระพี้สีน้ำตาลปนแดง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงค่อนข้างหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๘ ซม. ยาว ๗-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือทู่ โคนมนหรือหยักเว้า แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนา มีขนหนาแน่นทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๔ เส้น แต่ละเส้นปลายโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ ทั้งเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเป็นร่องทางด้านบนและนูนทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒.๕-๕ ซม. มีขนแน่น
ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกเล็ก ๓-๕ ดอก ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔ กลีบ มีขนหนาแน่นทางด้านนอก กลีบเลี้ยงยาว ๒-๓ มม. กลีบดอกยาว ๖-๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑๒-๑๖ เกสร รังไข่เป็นหมัน มีขนสั้นดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๘-๑๐ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มี ๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๑ ก้าน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ ซม. เกลี้ยงผลแก่เนื้อนิ่ม สีเหลือง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดค่อนข้างแบน ด้านในมีสันแหลม ด้านนอกโค้งมน
จันดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบขึ้นตามป่าและตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน.