กระถินเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม.
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ยาว ๑๒.๕-๒๕ ซม. แกนกลางยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีขน ใบประกอบแยกแขนง ๓-๑๐ คู่ ยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านแขนงสั้น มีขน มีใบย่อย ๕-๒๐ คู่ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๖-๒.๑ ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว ขอบมีขนด้านล่างมีนวล
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น กลม ออกตามง่ามใบ ๑-๓ ช่อ ก้านช่อดอกยาว ๒-๕ ซม. ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. โคนติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ มีขน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปซ้อน ยาวประมาณ ๕ มม. มีขน เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๘-๑ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบด้านบนมีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก
ฝักแบน รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๔-๒ ซม. ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ก้านยาว ๐.๖-๑.๓ ซม. ฝักแก่แตกตามยาว มี ๑๕-๓๐ เมล็ด สีน้ำตาล เป็นมัน รูปไข่แบน กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๖-๙ มม.
กระถินมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อนและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ทนความแห้งแล้งได้ดีและเติบโตเร็ว นำเข้า มาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันได้นำพันธุ์ที่ ปรับปรุงใหม่เรียกว่า กระถินยักษ์ ซึ่งมีลำต้นสูงกว่าพันธุ์เดิมมาปลูกในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนเพื่อกันลม และบังแดดให้แก่ พืชที่ปลูก เช่น ชา กาแฟ และใช้ทำฟืน
ใบกระถินอุดมด้วยธาตุไนโตรเจนและเกลือของโพแทสเซียม นำมาหมักเป็นปุ๋ยได้ ใบ ยอด ฝัก และเมล็ดอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ สัตว์พวกกระเพาะเดียว เช่น ม้า หมู กระต่าย ไก่ ที่กินใบกระถินในปริมาณสูงจะทำให้ขนร่วง แต่เมื่อหยุดกิน ขนจะงอกขึ้นมาเหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังมีรายงานของการเป็นพิษจากพืชนี้อีกว่าทำให้เป็นหมัน สารที่ทำให้เกิดพิษคือ leucenine ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับ mimosine เมื่อเติมเกลือของเหล็กที่ละลายได้ในน้ำลงในอาหารสัตว์ที่มีใบกระถินเป็นส่วนผสมจะทำให้พิษลดลง การหุงต้มใบและเมล็ดจะทำให้ mimosine ถูกทำลายไปบ้าง เป็นการลดพิษอีกวิธีหนึ่ง มีรายงานว่ากระถินเป็นพืชที่ดูดธาตุซีลีเนียมจากดินมาสะสมไว้ได้มาก จึงทำให้เกิดพิษเนื่องจากธาตุนี้ แต่ยังไม่มีรายงานของการเป็นพิษเนื่องจากการกินกระถินเกิดขึ้นในคน ยอดอ่อนและฝักอ่อนใช้กินเป็นผัก เมล็ดใช้ทำเครื่องประดับ เช่น สายสร้อย เข็มกลัด เข็มขัด ฯลฯ เปลือกให้เส้นใยสั้น ๆ ใช้ทำกระดาษได้ แต่คุณภาพไม่ดี (Sastri ed., 1962)