จันเขา

Diospyros insidiosa Bakh.

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกนอกสีดำ ค่อนข้างเรียบ เปลือกในสีเหลืองอ่อน กระพี้สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดผลแก่เนื้อนิ่ม เมล็ดค่อนข้างแบน ด้านในมีสันแหลมด้านนอกโค้งมน

จันเขาเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ รูปทรงกลมหรือรูปไข่เปลือกนอกสีดำ ค่อนข้างเรียบ เปลือกในสีเหลืองอ่อนกระพี้สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน แก่นสีน้ำตาลเข้มถึงสีค่อนข้างดำ กิ่งอ่อนเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปขอบขนานกว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๕-๑๗ ซม. ปลายแหลม โคนมนขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนา ใบอ่อนด้านล่างมีขนนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น แต่ละเส้นปลายโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๕ มม. มีขนนุ่ม

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกเล็ก ๓-๕ ดอก ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๒-๓ มม. มีขนนุ่มทางด้านนอก กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน โคน


เชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้จำนวนมากและมีรังไข่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๘-๑๐ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนประปราย มี ๘-๑๐ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๑ ก้าน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ ซม. ผลแก่เนื้อนิ่ม สีเหลืองกลีบเลี้ยงติดทนและมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นกลีบจุกผลเมล็ดค่อนข้างแบน ด้านในมีสันแหลม ด้านนอกโค้งมน

 จันเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จันเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros insidiosa Bakh.
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
insidiosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bakhuizen van den Brink, Reinier Cornelis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1881-1945)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย และนางสาวอารี พลดี