ขมิ้นต้น

Mahonia siamensis Takeda ex Craib

ไม้ต้น มีรอยแผลใบเป็นวงรอบข้อ เนื้อไม้สีเหลือง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่ ขอบหยักเป็นติ่งหนามแข็ง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม สุกสีม่วงอมน้ำเงิน

ขมิ้นต้นเป็นไม้ต้น สูง ๒-๕ ม. เนื้อไม้สีเหลือง แตกกิ่งต่ำ มีกิ่งก้านสาขาที่แยกออกจากลำต้นแต่ไม่แตกแขนงมาก บริเวณลำต้นและกิ่งมีเปลือกหนาแตกตามยาว และรอยแผลใบเห็นชัดเป็นวงรอบข้อ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ยาว ๓๐-๔๐ ซม. เรียงเวียนถี่ที่ปลายกิ่ง โคนก้านใบแผ่เป็นแผ่นล้อมรอบข้อ หูใบ ๒ ใบ ขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายใบแต่เล็กกว่า ใบย่อยรูปไข่ เรียงตรงข้าม มี ๒-๖ คู่ กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๗-๘ ซม. ปลายมน โคนเบี้ยว ขอบหยักและมีหนามแข็งเล็กแหลมตรงรอยหยัก ใบย่อยไม่มีก้าน แผ่นใบค่อนข้างหนา เหนียวและแข็ง เส้นโคนใบมี ๓-๕ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๓๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๐.๕-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบรวม ๖ กลีบ เรียง ๒ ชั้น สีเหลือง เกสรเพศผู้ ๖ อัน อับเรณูมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีลิ้นเปิดออกทางด้านข้าง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๒ เม็ด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เนื้อนุ่ม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. สีเขียวอมเทา เมื่อสุกสีม่วงอมน้ำเงิน มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 ขมิ้นต้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นตามเทือกเขา ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ ม. ขึ้นไป ในต่างประเทศพบที่พม่าตอนเหนือ

 ผลสุกกินได้ เปลือกต้นและเปลือกรากใช้เป็นยาแก้ไข้ดำแดง เจริญอาหาร แก้ท้องเสีย ตาเจ็บ และดีไม่ปรกติ สารประกอบส่วนใหญ่ในขมิ้นต้นชนิดนี้เป็นพวกแอลคาลอยด์ เช่น berberine, isotetrandrine ในเปลือกต้น และพวกฟลาโวนอยด์ ampelopsin ในใบ (Ruangrungsi, De-Eknamkul and Lange, 1984).



ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขมิ้นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mahonia siamensis Takeda ex Craib
ชื่อสกุล
Mahonia
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Takeda, Hisayoshi
- Criaib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Takeda, Hisayoshi (1883-1972)
- Criaib, William Grant (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.นิจศิริ เรืองรังษี