ขมิ้นเครือชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ กิ่งอ่อนมีขนและเกล็ดสีน้ำตาลแดง กิ่งแก่เกลี้ยง เปลือกเรียบ สีเทา
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๗-๙.๕ ซม. ยาว ๑๘-๒๒ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบเส้นขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. สีน้ำตาลดำเมื่อแห้ง
ดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศร่วมต้นและร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งและแบบช่อเชิงลดออกตามง่ามใบ ยาว ๕-๑๐ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป ใบประดับเล็ก รูปเรียวแหลม ร่วงง่าย ดอกยาวประมาณ ๒ มม. ออกเป็นกระจุก ๒-๔ ดอก กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๔ แฉก มีขนแน่นทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่กลับ สีเหลืองอ่อน ผิวเกลี้ยง ปลายกลีบยื่นพ้นกลีบเลี้ยง ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ ๘ อัน เรียงเป็น ๒ วง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔ เม็ด โคนก้านยอดเกสรเพศเมียอวบ ปลายเรียวแหลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกระสวย กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. มีสันแข็ง ๔ สัน ไม่มีก้านผล
ขมิ้นเครือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนเมษายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ใบใช้ตำเป็นยาพอกฝีและแผลน้ำร้อนลวก น้ำต้มจากใบใช้ดื่มเป็นยาขับพยาธิ.