ตะแบกแดง

Lagerstroemia calyculata Kurz

ชื่ออื่น ๆ
ตะคู้ฮอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ตะแบก (กลาง); ตะแบกขาวใหญ่ (ปราจีนบุรี); ตะแบกหนัง (จันทบุรี); ตะแบกใ
ไม้ต้น โคนต้นมีพูพอน เปลือกเรียบลอกหลุดเป็นแผ่นค่อนข้างกลม สีเทาแกมสีนวล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบออกตามปลายกิ่ง ดอกตูมรูปคล้ายลูกข่าง มีสันนูนบาง ๆ ตามยาว ๑๒ สัน ดอกแรกบานสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนจนเกือบขาวเมื่อใกล้ร่วง ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกสั้น เมล็ดค่อนข้างแบนมีปีก

ตะแบกแดงเป็นไม้ต้น สูง ๑๘-๒๑ ม. โคนต้นมีพูพอน เปลือกเรียบลอกหลุดเป็นแผ่นค่อนข้างกลมสีเทาแกมสีนวล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น แต่หลุดง่าย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนกว้างหรือกลม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนังใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลทั้ง ๒ ด้าน ใบแก่เกลี้ยง ยกเว้นเส้นกลางใบมีขนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๖ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัด ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ช่อดอกเบี้ยวไม่สมมาตร แกนช่อดอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านดอกสั้น ดอกตูมรูปคล้ายลูกข่าง กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. โคนต้นมีพูพอนปลายดอกตูมเป็นตุ่มเล็ก มีสันนูนบาง ๆ ตามยาว ๑๒ สัน ดอกแรกบานสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนจนเกือบขาวเมื่อใกล้ร่วง กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น โคนกลีบเชื่อมติดกับฐานดอกเป็นรูปกรวย กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแยกเป็น ๕-๖ แฉก แต่ละแฉกตั้งตรง บริเวณปลายแฉกด้านในมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบดอก ๕-๖ กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายแหลมกลีบดอกยับย่น ขอบเป็นคลื่น ก้านกลีบยาว ๒-๓ มม. ติดที่บริเวณขอบฐานดอกสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่โดยรอบภายในฐานดอกรังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปทรงกระบอกสั้นมีขน มี ๕-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกสั้นกว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สีน้ำตาลเข้มเป็นมัน ผลแก่แตก ๕ หรือ ๖ เสี้ยว เมล็ดค่อนข้างแบนมีปีก

 ตะแบกแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะแบกแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lagerstroemia calyculata Kurz
ชื่อสกุล
Lagerstroemia
คำระบุชนิด
calyculata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
ตะคู้ฮอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ตะแบก (กลาง); ตะแบกขาวใหญ่ (ปราจีนบุรี); ตะแบกหนัง (จันทบุรี); ตะแบกใ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวปาจรีย์ อินทะชุบ