ขี้อ้นดอนเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมเกือบกลม เกือบทุกส่วนมีขนรูปดาวสีเทาอมน้ำตาลหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๕-๑๘ ซม. ปลายแหลมเรียวแหลม หรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวขอบจักฟันเลื่อยถี่ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ใบอ่อนมีขนรูปดาวสีเทาอมน้ำตาลหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ขนด้านบนร่วงง่าย ใบแก่ด้านบนสีเขียวหรือดำ บริเวณเส้นกลางใบมีขนรูปดาวหนาแน่น ส่วนอื่นเกลี้ยง ด้านล่างมีขนรูปดาวสีเทาอมน้ำตาลหนาแน่น เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบนเส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น ปลายโค้งขึ้นจดกันก่อนถึงขอบใบ ด้านบนเป็นร่องตื้น ด้านล่างนูนเป็นสัน ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. ด้านบนเป็นร่อง ย่นเป็นริ้วตามยาว มีขนสีเทาอมน้ำตาลหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบยาว ๒-๓ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนสีเทาอมน้ำตาลหนาแน่น แต่ละช่อมีดอกจำนวนมากก้านดอกยาวไม่เกิน ๑ มม. หรือไม่มี ใบประดับเป็นเส้นยาวไม่เกิน ๑ มม. ดอกเล็ก สีขาวแกมม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังแคบ ยาว ๑-๑.๒ มม. ปลายมีติ่งเล็ก ๆ ไม่ชัดเจน ๔ ติ่ง ด้านนอกมีขนรูปดาวหนาแน่นด้านในเกลี้ยง กลีบดอกยาว ๒-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอกหรือรูประฆังแคบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกปลายมน ด้านนอกมีขนรูปดาวประปรายและมีต่อม ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน โผล่พ้นหลอดกลีบดอกออกมามาก อับเรณูรูปขอบขนาน แตกตามยาว มีต่อมจำนวนมากที่ด้านหลังก้านชูอับเรณูติดด้านหลัง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยงมีต่อมทั่วไป มี ๒ ช่อง แต่ไม่สมบูรณ์ แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก คล้ายเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ มม. ผิวมีต่อม สุกสีม่วงดำ ส่วนล่างมีกลีบเลี้ยงติดทนรองรับ เมล็ดเล็ก มี ๔ เมล็ด ด้านนอกมนด้านในเป็นสัน
ขี้อ้นดอนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ หรือที่รกร้าง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย
ประโยชน์ รากตากแห้ง บด ใช้กินแก้ผิดสำแดงใบสดใช้เคี้ยวและอมแก้ปวดฟัน ใบอ่อนใช้ต้มดื่มแก้โรคกระเพาะ ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปรกติ ใบสดใช้พอกแผล ยอดอ่อนใช้เป็นส่วนผสมของยาพิษอาบลูกดอกในฟิลิปปินส์ใช้ใบเบื่อปลาให้เมา ใบแห้งใช้เป็นเหยื่อล่อกุ้ง