ขมิ้นเครือชนิดนี้เป็นไม้เถา เนื้อไม้และน้ำในเถาสีเหลือง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๘-๑๙ ซม. ยาว ๑๒-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน ตัด หรือคล้ายรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยง เส้นโคนใบ มี ๕ เส้น เห็นชัดทางด้านล่างและมีเส้นแขนงใบข้างละ ๑-๓ เส้น ออกจากบริเวณเหนือกึ่งกลางของเส้นกลางใบ ด้านล่างของแผ่นใบมีปุ่มเล็ก ๆ ที่ซอกของเส้นใบและเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๗-๑๕ ซม. ที่ปลายและโคนก้านพองออก ข้างที่ติดกับเถาและกิ่งจะโค้งงอ
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบหรือตามเถา ยาว ๑๐-๕๐ ซม. ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ยาว ๑-๕ ซม. ดอกเล็ก สีขาวอมเขียวหรือขาวอมเหลือง ไม่มีก้านดอกหรือมีแต่สั้นมาก ดอกเพศผู้มีกลีบรวม ๙-๑๐ กลีบ เรียงเป็น ๓ วง วงนอก ๓-๔ กลีบ ขนาดเล็กมาก ยาวประมาณ ๑ มม. วงใน ๒ วง วงละ ๓ กลีบ กลีบรูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ขนาดใหญ่กว่ากลีบวงนอก ยาว ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้ ๙-๑๒ อัน ก้านชูอับเรณูติดกัน ดอกเพศเมียมีกลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง รูปขอบขนาน ยาว ๓-๔ มม. เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๖ อัน เป็นแผ่นเล็ก ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ อัน แยกกัน ยอดเกสรเพศเมียกว้าง ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. สีเหลือง เมื่อแก่สีดำ มี ๑ เมล็ด รูปรีกว้าง
ขมิ้นเครือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว
น้ำต้มจากรากและเถาใช้เป็นยาลดไข้ ขับระดู บำรุงธาตุ และขับเสมหะ เถาและกิ่งใช้บำบัดโรคดีซ่าน กระเพาะอาหาร และอาหารไม่ย่อย น้ำต้มจากเนื้อไม้ใช้ล้างแผลและแก้คัน (Perry and Metzger, 1980) รากและเถามีสารประเภทแอลคาลอยด์ในกลุ่ม isoquinoline ได้แก่ berberine, palmatine, jatrorrhizine, columbamine, thalifendine, dehydrocorydalmine, pycnarrhine, 8-hydroxyberberine, limacine และ homoaromoline (Thornber 1970; Verpoorte et al, 1982).