กระต่ายจามเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นแตกแขนงทอดราบไปตามพื้นดิน ปลายกิ่งมักชูตั้งขึ้นเล็กน้อย หรืออาจชูสูงได้ถึง ๑๕ ซม. มีขนทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปซ้อน กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๕- ๑.๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบหยักหยาบ ๆ แผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นใบเห็นไม่ชัดเจน ก้านใบสั้นมากหรือไม่มี
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ค่อนข้างกลม ออกตามง่ามใบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไม่มี โคนช่อมีใบประดับรูปช้อนขนาดเล็กจำนวนมาก เรียงช้อนประมาณ ๒ ชั้นอยู่โดยรอบฐานรองดอกที่เป็นแผ่นกลมขนาดเล็กและนูนเล็กน้อย ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย เล็กมากและมีจำนวนมาก เรียงเป็นวงบนฐานรองดอกล้อมรอบดอกสมบูรณ์เพศซึ่งอยู่วงใน มีขนาดเล็ก และมีจำนวนน้อยกว่าดอกเพศเมียมีกลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดเรียว สั้นมากปลายแยก ๒-๓ แฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบดอกสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รังไข่เล็กเกสรเพศผู้ ๔ อัน
ผลมักเป็นสี่เหลี่ยม รูปรีหรือเกือบเป็นรูปขอบขนาน ขนาดเล็กมากและมีขน
กระต่ายจามมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งและริมแหล่งน้ำ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในเขตร้อน ของทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย
มีผู้นำไปใช้ประโยชน์ทางยาแผนโบราณ เช่น จีนใช้ทำยานัตถุ์ ยาลดอาการบวม อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวถึงพืชชนิดนี้ ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ว่ามีพิษด้วย (Perry and Metzger, 1980) นอกจากนี้ ยังพบสารเคมีจำพวก sesquiterpene ๒ ชนิด และ flavonoid อีก ๓ ชนิด มีผลในการยับยั้งและต้านภูมิแพ้ (Wu et al, 1935)