ตาไก่ชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๑-๓ ม. อาจพบสูงถึง ๖ ม. กิ่งแขนงเรียวเล็ก
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓.๕-๗ ซม. พบน้อยมากที่กว้าง ๘ ซม. ยาว ๘-๒๓ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง มีต่อมเล็กสีดำจำนวนมากกระจายทั่วไปและมีหนาแน่นตามบริเวณขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๘ เส้น เรียงถี่ค่อนข้างขนานกัน ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. เป็นร่องทางด้านบน ขอบก้านด้านข้างค่อนข้างบางคล้ายแนวครีบแคบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะกึ่งช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง มี ๕-๘ ดอก ช่อดอกยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกอวบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๒.๕ มม. ด้านนอกมีจุดดำและต่อมเล็กสีน้ำตาลจำนวนมาก ขอบกลีบมีขน กลีบดอกสีม่วงอมแดง ยาว ๖-๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้าง ๓.๕-๔ มม. ปลายมนหรือแหลม ผิวมีต่อมเล็กคล้ายจุดหรือขีดประสีน้ำตาลหรือสีดำจำนวนมาก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปใบหอก ยาว ๔-๕ มม. ด้านหลังมีต่อมสีดำขนาดเล็กประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม. เมื่อสุกสีแดงคล้ำถึงสีม่วงคล้ำ ผิวมีต่อมสีดำจำนวนมาก เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
ตาไก่ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา และมาเลเซีย.