ตะแบกดงเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๐ ม. แตกกิ่งมากโคนต้นมีพูพอนสูงได้ถึง ๑.๕ ม. เปลือกเรียบ ลอกหลุดเป็นแผ่นค่อนข้างกลม สีน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๖-๑๑ ซม. ปลายและโคนค่อนข้างกลม มน หรือแหลม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนนุ่มเล็กน้อยบริเวณเส้นกลางใบและเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น ก้านใบยาวได้ถึง ๕ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง รูปคล้ายพีระมิดหรือกึ่งทรงกระบอก กว้าง ๑๐-๒๕ ซม. ยาว ๖-๓๖ ซม. มีขนสีเทา แต่ละช่อมีดอกน้อยก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกตูมรูปลูกข่างหรือรูปกระบอง กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. มีสันนูนตามยาว ๖-๙ สัน แต่ละสันแผ่กว้างเป็นครีบขอบหยักเป็นคลื่นหรือเรียบ ขนาดของครีบจะเล็กลงจนถึงบริเวณส่วนเว้า ปลายดอกตูมเป็นตุ่มเล็ก สูงประมาณ ๑ มม. ดอกแรกบานสีม่วงแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอกเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๖-๙ แฉก รูปสามเหลี่ยม กลีบดอก ๖-๙ กลีบ รูปกลมกว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบเป็นคลื่น ก้านกลีบดอกยาวประมาณ ๕ มม. ติดที่บริเวณขอบฐานดอกสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก มี ๒ แบบ เกสรเพศผู้ด้านนอก ๖-๙ เกสรมีขนาดใหญ่และยาวกว่าเกสรเพศผู้ที่อยู่ด้านใน เกสรเพศผู้ที่อยู่ด้านในมีก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่โดยรอบภายในฐานดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม เกลี้ยง มี ๖-๙ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอด
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ปลายเป็นติ่งแหลม กว้าง ๑.๓-๑.๖ ซม. ยาว ๑.๔-๒.๕ ซม. ผลแก่แตก ๖-๙ เสี้ยว สีน้ำตาลเข้มเป็นมัน เมล็ดมีปีก
ตะแบกดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง พบตามป่าดิบชื้นบริเวณใกล้ลำธารหรือที่ชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย และอินโดนีเซีย.