ดาดบัวเหนือ

Begonia fibrosa C. B. Clarke

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นหัวค่อนข้างกลม มีรากเรียวเล็กจำนวนมาก ลำต้นเหนือดินตั้งตรง สีเขียว อ่อน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปกลมหรือค่อนข้างกลม แผ่นใบอวบน้ำ เมื่อแห้งบางและค่อนข้างเหนียว ดอกแยก เพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียว ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลอ่อน มี ๓ ปีก เมล็ดสีน้ำตาล รูปกระสวย มีจำนวนมาก


     ดาดบัวเหนือเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงได้ถึง ๒๐ ซม. ลำต้นใต้ดินเป็นหัวค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ ซม. มีรากเรียวเล็กจำนวนมาก ลำต้นเหนือดินตั้งตรง สีเขียวอ่อน เกลี้ยง เมื่อแห้งสีน้ำตาล
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน ส่วนใหญ่มักมี ๑-๒ ใบ รูป กลมหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๑๖ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. ปลายมนกลม โคนรูปหัวใจหุ้มลำต้น ขอบหยักมน แผ่น ใบอวบน้ำ ด้านบนเป็นมัน สีเขียวสด หรือสีเขียวหม่นแกม สีเหลือง ด้านล่างสีเขียวอ่อน เมื่อแห้งบางและค่อนข้าง เหนียว เส้นใบจากโคนใบ ๔-๗ เส้น เห็นชัด ก้านใบ สั้นมาก ไม่พบหูใบ

 


     ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อ กระจุกด้านเดียว ออกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้ง ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ดอกเพศผู้บานก่อนดอกเพศเมีย ก้านช่อดอกยาว ๑๐- ๑๘ ซม. มีขนต่อม สีเขียวอ่อน เป็นมันเงา หนาแน่น ใบประดับรูปกลม ดอกเพศผู้มีก้านดอกสีเขียวอ่อนหรือ สีชมพูอ่อน ยาว ๑๐-๑๕ ซม. มีขนหนาแน่น กลีบรวม ๒ กลีบ มีสีขาวบริเวณกลางกลีบ บริเวณรอบ ๆ ด้านนอกสีชมพู ขอบสีชมพูอ่อน กลีบรูปกลม กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายมน ขอบเรียบ ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร สีเหลืองสด ก้านชูอับเรณูเชื่อม ติดกันที่โคน ยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. ดอกเพศเมียมีก้านดอกสีเขียวอ่อน ยาว ๗-๑๐ ซม. มีขนหนาแน่น กลีบรวม ๒-๓ กลีบ สีคล้ายกับดอกเพศผู้ กลีบรูปกลม กว้างและยาว ๖-๗ มม. ปลายมน ขอบเรียบ ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านใน เกลี้ยง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ สีเขียวหรือสีชมพู มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลขนาดเล็กจำนวนมาก มีปีก ๓ ปีก ขนาดไม่เท่ากัน โคนก้านยอดเกสรเพศเมียสีเหลืองเข้ม ยอดเกสรเพศเมียรูปไต มีขนเส้นเล็ก ๆ

 


     ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปีกด้านข้าง ๒ ปีก กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ประมาณ ๓ มม. อีก ๑ ปีกรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ ซม. กว้างกว่าปีกด้านข้าง โค้งไปตามความยาวของผล เมล็ดสีน้ำตาล รูปกระสวย มีจำนวนมาก
     ดาดบัวเหนือจัดเป็นพรรณไม้หายากของประเทศ ไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบบริเวณที่ มีแสงน้อยตามหน้าผาหินปูนที่มีน้ำไหลในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๓๘๐-๙๓๐ ม. ออกดอกเดือน สิงหาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดาดบัวเหนือ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Begonia fibrosa C. B. Clarke
ชื่อสกุล
Begonia
คำระบุชนิด
fibrosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- C. B. Clarke
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- C. B.Clarke ช่วงเวลาคือ (1832-1906)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.