ช่อครามน้ำ

Pontederia cordata L.

ไม้น้ำล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเหนือดินเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุก รูปรีถึงรูปไข่หรือรูปใบหอก ก้านใบอวบกลม โคนแผ่เป็นกาบหุ้มประกบกัน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายลำต้น มีดอกจำนวนมาก สีม่วงคราม สีขาว สีชมพู หรือสีน้ำเงิน ผลแบบผลกระเปาะ ขนาดเล็กลักษณะเป็นถุงบางมีครีบ ภายในมี ๑ เมล็ด

ช่อครามน้ำเป็นไม้น้ำล้มลุกหลายปี สูง ๐.๓-๑ ม. ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเหนือดินเป็นกอแตกจากเหง้าแบบสลับ ๒ แถว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุก แผ่นใบอยู่เหนือน้ำ รูปรีถึงรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๗-๙ ซม. ยาว ๑๕-๒๒ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนหยักเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นใบขนานกันตามแนวยาว


ก้านใบอวบกลม ยาวประมาณ ๕๐-๖๐ ซม. โคนแผ่เป็นกาบหุ้มประกบกัน

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายลำต้น ก้านช่อยาว ๘-๑๐ ซม. มีกาบหุ้ม ช่อดอกรูปทรงกระบอก กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. มีดอก ๒๐๐-๔๐๐ ดอก สีม่วงคราม สีขาว สีชมพูหรือสีน้ำเงิน ไม่มีก้านดอก ใบประดับย่อยรูปรี มีขนทางด้านนอก ดอกเรียงกันแน่นบนแกนช่อ ดอกกว่าง ๑-๑.๔ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๖ แฉก เรียง ๒ ชั้น แฉกชั้นในที่อยู่ด้านบนของดอกมี ๑ แฉก ขนาดใหญ่สุดมีแต้มสีขาวแกมเหลืองและมีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร สั้น ๓ เกสร ยาว ๓ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉกสีม่วงอ่อน

 ผลแบบผลกระเปาะ ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นถุงบาง มีครีบ ภายในมี ๑ เมล็ด

 ช่อครามน้ำเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา ยุโรป อินเดีย และออสเตรเลียนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช่อครามน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pontederia cordata L.
ชื่อสกุล
Pontederia
คำระบุชนิด
cordata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาววีรญา บุญเตี้ย