ขมิ้นเครือชนิดนี้เป็นไม้เถา เนื้อไม้และน้ำในเถาสีเหลือง กิ่งอ่อนมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาล จะร่วงไปเมื่อกิ่งแก่
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือรูปไข่ กว้าง ๘-๒๓ ซม. ยาว ๑๑-๓๓ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม เส้นโคนมน ตัด หรือคล้ายรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนอ่อนนุ่มสีขาว เส้นโคนใบ มี ๕-๗ เส้น เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๓-๑๖ ซม. ติดที่ขอบใบหรือติดลึกเข้าไปใต้แผ่นใบประมาณ ๘ มม. อาจลึกได้ถึง ๒.๗ ซม. ปลายก้านทั้ง ๒ ข้างพองออก และปลายข้างที่ติดกับกิ่งจะโค้งงอ
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกเหนือง่ามใบหรือตามเถาแก่ ๆ ที่ใบร่วงไปแล้วเป็นช่อเดี่ยวหรือ ๒-๓ ช่อรวมกัน ยาว ๕-๑๑ ซม. มีขนอ่อนนุ่มสีน้ำตาล ช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ มม. ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ จำนวนมาก ก้านช่อดอกย่อยยาว ๑-๓ ซม. ใบประดับรูปเรียว ยาว ๔-๕ มม. ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียลักษณะคล้ายกัน สีเหลือง ขนาดเล็ก ไม่มีก้านดอกหรือมีแต่สั้นมาก กลีบรวม ๙ กลีบ เรียงเป็น ๓ วง รูปรีกว้างหรือรูปไข่กลับ กลีบวงในใหญ่กว่าวงนอก ด้านนอกของกลีบมีขนยาวและอ่อนนุ่มปกคลุม ด้านในเกลี้ยง ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๖ อัน เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกก้านชูอับเรณูไม่ติดกัน ส่วนชั้นในติดกัน ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๖ อัน รูปคล้ายกระบอง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ อัน แยกกัน รูปรี ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนยาวอ่อนนุ่มหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นยาว
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. มีขนสีน้ำตาลถึงสีส้มหรือสีเหลือง มี ๑ เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม.
ขมิ้นเครือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว
รากและเถาใช้เป็นยาขมเจริญอาหารและยาระงับเชื้อ (Kirtikar, 1980) ประกอบด้วยสารประเภทแอลคาลอยด์ในกลุ่ม isoquinoline ได้แก่ berberine, jatrorrhizine, berberubine, N,N-dimethyllincarpine, thalifendine และ palmatine (Siwon et al, 1980)