ตะแบกเกรียบเป็นไม้ต้น สูง ๕-๓๐ ม. โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกเรียบเป็นมัน สีเหลืองหรือสีน้ำตาลอมแดง มีรอยแผลเป็นหลุมตื้นตลอดลำต้น กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลอมแดงหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบเรียวหรือค่อนข้างกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนา
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๕ ซม. โปร่ง แตกแขนงเล็กน้อย ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๕ ซม. โค้งขึ้นเล็กน้อย มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลอมแดงหนาแน่น ดอกในช่อมีจำนวนน้อย ก้านดอกยาวประมาณ ๔ มม. ดอกตูมรูปลูกข่าง มีสันนูนเล็กน้อยโดยรอบและมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ปลายดอกตูมเป็นตุ่มเล็ก ๆ ดอกแรกบานสีม่วงอมแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีจางลง กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น โคนกลีบเชื่อมติดกับฐานดอกเป็นรูปถ้วย ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก แต่ละแฉกยาว ๕-๖ มม. กลีบดอก ๖ กลีบ รูปค่อนข้างกลม รูปกลม หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๔-๑.๗ ซม. ยาว ๑-๑.๔ ซม. กลีบดอกยับย่น ขอบเป็นคลื่น ก้านกลีบยาว ๔-๖ มม. เกสรเพศผู้ ๖๐-๗๐ เกสรมี ๕-๖ เกสรที่อยู่ด้านนอกมีขนาดใหญ่และยาวกว่าเกสรเพศผู้ที่อยู่ด้านใน เกสรเพศผู้ที่อยู่ด้านในมีก้านชูอับเรณูเรียวยาวคล้ายเส้นด้าย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มี ๕-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่ ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ปลายมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ผลแก่แตก ๕ หรือ ๖ เสี้ยว เมล็ดค่อนข้างแบน ยาวประมาณ ๑ ซม. มีปีก
ตะแบกเกรียบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน.