จั๋งไทย

Rhapis subtilis Becc.

ชื่ออื่น ๆ
จั๋งใต้ (กลาง)
ปาล์มกอ แตกกอแน่น ลำต้นใต้ดินทอดเลื้อย ลำต้นเหนือดินตั้งตรง มีกาบใบและรกติดทนใบรูปฝ่ามือ รูปครึ่งวงกลม ขอบหยักลึกเป็นแฉก ๕-๑๒ แฉก เชื่อมติดกันเล็กน้อยที่โคน แต่ละแฉกรูปแถบยาว ขอบกาบใบมีรกเป็นร่างแหห่าง ๆ สีน้ำตาลเข้มหุ้มรอบกาบใบและลำต้น ดอกแยกเพศต่างต้นช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกกาบใบใกล้ยอด ดอกสีขาวนวล ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ เมล็ดรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ มี ๑-๓ เมล็ด

จั๋งไทยเป็นปาล์มกอ สูง ๓-๕ ม. แตกกอแน่นกอกว้าง ๑-๒ ม. ลำต้นใต้ดินทอดเลื้อย ลำต้นเหนือดินตั้งตรง มีกาบใบและรกติดทน เส้นผ่านศูนย์กลางรวมกาบใบ ๑.๘-๒.๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางไม่รวมกาบใบ ๐.๖-๑.๕ ซม.

 ใบรูปฝ่ามือ แผ่กว้างออกเป็นรูปครึ่งวงกลมกว้าง ๒๕-๖๐ ซม. ยาว ๑๕-๒๘ ซม. ตั้งชูขึ้น เรียงเวียนมีประมาณ ๑๕-๒๒ ใบ แต่ละใบขอบหยักลึกเป็นแฉก ๕-๑๒ แฉก โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย แต่ละแฉกรูปแถบยาว กว้าง ๐.๕-๕ ซม. ยาว ๑๒-๓๐ ซม. ปลายตัดและมีรอยหยักซี่ฟัน โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบโค้งลงเล็กน้อย มีรอยพับจีบตามแนวเส้นแขนงใบตามยาวเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมันเงา ก้านใบยาว ๓๐-๕๐ ซม. กาบใบยาว ๕-๑๕ ซม. กาบใบและก้านใบสีเขียว ขอบกาบใบมีรกเป็นร่างแหห่าง ๆ สีน้ำตาลเข้ม เรียงเป็นระเบียบหุ้มรอบกาบใบและลำต้น

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกกาบใบใกล้ยอด แต่ละต้นมี ๒-๓ ช่อ ช่อย่อยคล้ายช่อเชิงลด ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๒๐ ซม. แกนกลางช่อยาว ๑๓-๒๘ ซม. แกนกลางช่อย่อยยาว ๑๐-๑๕ ซม. ดอกเพศผู้สีขาวนวล ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เกสรเพศผู้ ๖ เกสร เรียงเป็น ๒ ชั้น ก้านชูอับเรณูยาว มักเชื่อมติดกับหลอดกลีบดอกเกือบตลอดความยาว อับเรณูรูปเกือบกลม มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน


ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้ ยาวได้ถึง ๒๕ ซม. แกนกลางช่อยาว ๓-๗ ซม. แกนกลางช่อย่อยยาว ๑๐-๑๒ ซม. ดอกเพศเมียสีขาวนวล ขนาดเล็ก มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๖ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นยอดเกสรเพศเมียเล็ก รูปคล้ายโล่ ขอบพับจีบ

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ กว้าง ๔-๔.๕ มม. ยาวประมาณ ๗.๕ มม. สีเขียว ผิวเรียบเมล็ดรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ มี ๑-๓ เมล็ด

 จั๋งไทยเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ตอนกลาง พบขึ้นบริเวณที่ชุ่มชื้นภายใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้งบนเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จั๋งไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhapis subtilis Becc.
ชื่อสกุล
Rhapis
คำระบุชนิด
subtilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Beccari, Odoardo
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1843-1920)
ชื่ออื่น ๆ
จั๋งใต้ (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายมานพ ผู้พัฒน์