คัดเค้าน้ำเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นหนานุ่มสีนํ้าตาลอ่อน กิ่งแก่สีเทา เกลี้ยง มีหนามแหลมตรงและแข็ง ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. พบน้อยที่มีลักษณะโค้ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนกลมหรือเว้ากึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มทางด้านบนและมีขนหยาบแข็งตามเส้นกลางใบทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๔ มม. มีขนสั้นหนานุ่ม หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก ยาว ๑-๓ มม. ปลายแหลม ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ยอด ช่อตั้งขึ้นยาว ๑-๒ ซม. มีดอก ๒-๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๓-๘ มม. มีขน ใบประดับรูปลิ่มแคบ มีขน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. ปลายแหลม มีขนสั้นหนานุ่ม สีน้ำตาลแดง กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๕ มม. ส่วนบนใกล้คอหลอดดอกด้านในมีขนหยาบแข็งหรือขนเครา ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายแหลม เกลี้ยง แฉกกลีบบิดเวียนในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดดอกก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปขอบขนาน ปลายเรียวรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอกเรียวยอดเกสรเพศเมียมี ๒ พู เป็นร่อง
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. เกลี้ยงมีรอยแผลที่เกิดจากกลีบเลี้ยงหลุดร่วงอยู่ที่ปลายผลเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะแบนและนูนหรือโค้งทางด้านนอก กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ผิวขรุขระ
คัดเค้าน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางพบตามป่าละเมาะและที่รกร้างใกล้ลำธาร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงมิถุนายนในต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา.