ตะแบกเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๒ ม. เปลือกเรียบเป็นมัน มีรอยแผลเป็นหลุมตื้นตลอดลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๙-๒๓ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบเรียวหรือเกือบกลมขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนังใบอ่อนมีขนสั้นนุ่มรูปดาวสีเหลืองหรือสีสนิมหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๓-๖ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๕๐ ซม. รูปคล้ายพีระมิด แตกแขนงโค้งขึ้นและโปร่ง มีขนสั้นนุ่มรูปดาวสีสนิมหนาแน่นทั้งช่อดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ดอกตูมรูปลูกข่างกว้างประมาณ ๖ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มรูปดาวสีสนิมหนาแน่น มีสันนูน ๑๒-๑๔ สัน สันนูนที่อยู่ตรงกับแฉกกลีบเลี้ยงแผ่เป็นแผ่นกว้าง สันนูนที่อยู่ตรงกับกลีบดอกปลายเรียวแหลมยื่นออกมา ปลายดอกตูมคล้ายพู่เล็ก ดอกแรกบานสีม่วงแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงอ่อนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอกเป็นรูประฆัง ยาว ๓-๖ มม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก ด้านในของปลายแฉกมีขนนุ่มรูปดาวหนาแน่นปกคลุมครึ่งหนึ่งของแฉก ปลายแฉกโค้งออก ด้านนอกมีขนนุ่มรูปดาวสีสนิมหนาแน่น กลีบดอก ๖ กลีบ รูปเกือบกลม กว้างประมาณ ๙ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบดอกยับย่น ขอบเป็นคลื่น ก้านกลีบยาวประมาณ ๒ มม. ติดที่บริเวณขอบฐานดอกสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวเกือบเท่ากัน ติดอยู่โดยรอบภายในฐานดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกสั้น มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นสีเหลืองมี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกสั้นกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายผลมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ผลแก่แตก ๖ เสี้ยว เมล็ดค่อนข้างแบน มีปีก
ตะแบกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าผลัดใบและป่าไผ่ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและมาเลเซีย.