คัดเค้าทองเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศหรืออาจพบบ้างที่เปลือกแตกเล็กน้อย เปลือกในสีน้ำตาลอ่อน สีจะเข้มขึ้นเมื่อถูกอากาศ กระพี้สีเหลืองอ่อน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง (๒.๕-)๔-๗(-๙) ซม. ยาว(๙-)๑๒-๑๘(-๒๕) ซม. ปลายแหลมโคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น ก้านใบยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๕-๖ มม. ปลายมักเรียวแหลม
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตรงข้ามใบ ยาวได้ถึง ๕ ซม. ช่อแขนงมักจะแยกแขนงคู่ประมาณ ๓ ครั้ง ก้านช่อยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๒-๒.๕(-๓.๕) มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๔ มม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนที่คอหลอดดอกปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน ยาว (๓-)๔-๖ มม. โค้งพับลง ด้านนอกมีขนเป็นแถวตรงเส้นกลางกลีบ พบน้อยมากที่มีขนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดดอก สลับกับแฉกกลีบดอกก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูแคบ ยาว ๔-๖ มม. โผล่พ้นปากหลอดดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายกระบอง ยาว ๕-๖ มม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. สุกสีเหลืองถึงแดง แก่จัดสีดำ เมล็ดรูปค่อนข้างกลม เป็นสันเหลี่ยมหลายสันคัดเค้าทองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทั่วทุกภาคพบตามป่าทั่วไป มักพบใกล้น้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทร มลายู และอินโดนีเซีย.