ขมันเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นทอดยาวได้ถึง ๓๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๕ ซม. เปลือกลำต้นเกลี้ยงถึงมีขนอุยสีขาว และมักมีเกล็ดสีน้ำตาลตามแนวขวางลำต้น มีรอยแผลใบและรอยแผลหูใบเห็นชัดเจนตามกิ่งอ่อน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปไข่กว้าง รูปไข่กลับ ถึงรูปรี กว้าง ๖-๒๕ ซม. ยาว ๑๐-๔๐ ซม. ปลายแหลมถึงป้าน โคนสอบรูปลิ่ม มน หรือเว้า ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนา เกลี้ยงหรือมีขนประปรายบนเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๔-๑๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๖ มม. ผิวเกลี้ยงถึงมีขนและเป็นเกล็ดสีน้ำตาล หูใบโค้งเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ยาว ๑-๔ ซม. ไม่ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ช่อดอกเพศผู้ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ ซม. ประกอบด้วยช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุก ๒๐-๕๐ ช่อ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๘ มม. ก้านช่อดอกมักแตกเป็น ๒ ง่าม ๒-๓ ชั้น ใบประดับรูปคล้ายเรือ ไม่หลุดร่วง เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ที่ปลายก้านช่อดอกและที่โคนก้านช่อดอกย่อย ดอกเพศผู้กว้างและยาว ๑.๕-๒ มม. ไม่มีก้าน กลีบรวมมีขนอุยถึงขนหยาบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉกเล็ก ๆ เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน เกสรเพศเมียเล็กมากและเป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๙ ซม. ประกอบด้วยช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุก ๒-๔ ช่อ แต่ละช่อทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ ซม. ใบประดับก้านช่อดอกคล้ายกับในช่อดอกเพศผู้แต่ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ดอกเพศเมียมีก้านยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบรวมกว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๔ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๔ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๑-๒ มม. มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๕ มม. มีกลีบรวมแห้งหุ้มอีกชั้นหนึ่ง มีเมล็ดเดียว
ขมันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย และภูมิภาคอินโดจีน
เปลือกเถาใช้เป็นเชือก ลำต้นตำให้แหลกใช้สระผมเพื่อฆ่าเหา (Perry and Metzger, 1980).