กระโดนเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๓๐ ม. โดยมากลำต้นมักแตกกิ่งต่ำ สูง ๔-๖ ม. มีกิ่งก้านสาขามาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แน่นทึบ เปลือกหนา แตกล่อนเป็นแผ่นปรกติเปลือกสีเทา แต่มักถูกไฟป่าเผาทุกปีจึงมีสีดำคล้ำ หน้าแล้งจะทิ้งใบหมดแล้วผลิใบใหม่พร้อมดอก
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๑๒ ซม. ยาว ๖-๒๐ ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนเรียวยาวดูคล้ายครีบ ขอบหยักเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างบางและเหนียว เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น
ดอกใหญ่ สีขาว ออกเป็นช่อ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ประมาณ ๖ ซม. แต่ละดอกมีใบประดับ ๓ ใบ กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ค่อนข้างมน ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. โคนกลีบติดกันเป็นรูประฆัง กลีบดอก ๔ กลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เรียงเป็นชั้น ๆ อย่างหนาแน่น ชั้นนอกสุดยาวกว่าชั้นใน ทั้งชั้นนอก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ ซม. ที่ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่เมล็ดแบน สีน้ำตาลอ่อน รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ผิวเรียบ
กระโดนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นประปรายตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าแดง และป่าทุ่ง ในต่างประเทศพบตั้งแต่อัฟกานิสถาน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน จนถึงภาคเหนือของมาเลเซีย
เนื้อไม้ค่อนข้างหยาบแข็งและหนักสีแดงแก่หรือสีน้ำตาลแกมแดง เสี้ยนค่อนข้างตรง ทนทานในร่ม ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ถ้าอาบน้ำยาอย่างถูกต้องแล้วใช้เป็นหมอนรองรางรถไฟได้ดี (กรมป่าไม้, ๒๕๒๖) เปลือกใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษงู แก้เมื่อยเคล็ด เป็นยาฝาดสมาน (Chopra, Nayar and Chopra, 1956: โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สํานักวัดพระเชตุพนฯ, ๒๕๐๗) ใช้เบื่อปลา (Burkill, 1935) และใช้เป็นสีย้อม (Kurz, 1877) เส้นใยหยาบที่ได้จากเปลือกใช้ทำเชือกทำเบาะรองหลังช้างทำกระดาษสีน้ำตาล (กรมป่าไม้, ๒๕๒๖) ใบมีรสฝาด มีแทนนินร้อยละ ๑๙ แพทย์แผนไทยใช้ใบผสมกับเครื่องยาอื่น ๆ ปรุงเป็นยาสมานแผล (Kurz, 1877) ใช้เบื่อปลา (Burkill, 1935) ดอกและยอดกินเป็นผักได้ (Perry and Metzger, 1980) ดอกและน้ำจากเปลือกสดใช้ผสมกับน้ำผึ้งจิบแล้วชุ่มคอ แก้ไอและแก้หวัด เป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตร ผลกินได้ ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาฝาดสมาน (Chopra, Nayar and Chopra, 1956; โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สํานักวัดพระเชตุพนฯ ๒๕๐๗) เมล็ดเป็นพิษ รากมีพิษ ใช้เบื่อปลา (Burkill, 1935).