ตะบูนดำเป็นไม้ต้น สูง ๘-๒๐ ม. เส้นรอบวง ๐.๘-๑.๘ ม. เปลือกนอกสีเทาเข้มหรือสีน้ำตาลเข้มแตกเป็นร่องเป็นสะเก็ดตามยาว และมีช่องอากาศทั่วไปเปลือกในสีน้ำตาลและเป็นเส้นใย เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนบริเวณรอบ ๆ โคนลำต้นอาจมีพูพอนต่ำและมีรากหายใจเป็นแท่งแข็ง รูปกรวยแหลมตั้งขึ้นไม่ค่อยเป็นระเบียบโผล่พ้นผิวดินเป็นบริเวณกว้าง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ยาว ๔-๑๒ ซม. มีใบย่อย ๒-๘ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายแหลมทู่ โคนมน สอบกว้าง หรือเบี้ยวขอบเรียบ แผ่นใบบางถึงค่อนข้างหนา เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น ปลายเส้นโค้งเชื่อมกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห อาจสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบประกอบยาว ๔-๗ ซม. ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง สีออกชมพูหรือสีแดงเมื่อแห้ง
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตาม
ผลแบบผลแห้งแตก เปลือกหนาและแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๑๑ ซม. เมล็ดรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ค่อนข้างโค้งไปทางด้านหนึ่ง และเว้าทางด้านตรงข้าม น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้
ตะบูนดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามชายฝั่งทะเล ที่ดินปนทราย มีน้ำทะเลขึ้นถึง ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่โซมาเลีย อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย
ประโยชน์ ช่วยยึดหน้าดินตามชายฝั่ง และเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเล.