จั๋งชนิดนี้เป็นปาล์มกอ สูง ๐.๕-๑.๘ ม. แตกกอค่อนข้างโปร่ง ลำต้นใต้ดินทอดเลื้อย ลำต้นเหนือดินตั้งตรง มีกาบใบและรกติดทน เส้นผ่านศูนย์กลางรวมกาบใบ ๑-๑.๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางไม่รวมกาบใบ ๕-๗ มม.
ใบรูปฝ่ามือ แผ่กว้างออกเป็นรูปครึ่งวงกลมกว้างได้ถึง ๕๐ ซม. ยาวได้ถึง ๒๕ ซม. ตั้งชูขึ้น เรียงเวียนเป็นกระจุกใกล้ปลายลำต้น มีประมาณ ๑๒-๒๐ ใบ แต่ละใบขอบหยักลึกเป็นแฉก ๑-๕ แฉก โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย แต่ละแฉกรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๑.๘-๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ปลายแหลมหรือตัดและมีรอยหยักซี่ฟันห่าง ๆ โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกกาบใบใกล้ยอด แต่ละต้นมี ๓ ช่อ ทั้งช่อยาวได้ถึง ๓๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๒๕ ซม. แกนกลางช่อยาว ๗-๑๕ ซม. แกนกลางช่อย่อยยาว ๕-๑๐ ซม. ช่อย่อยคล้ายช่อเชิงลด ออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ช่อดอกเพศผู้มีดอกจำนวนมาก ดอกเพศผู้สีเหลือง กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ ๖ เกสร เรียงเป็น ๒ ชั้น ก้านชูอับเรณูยาว มักเชื่อมติดกับหลอดกลีบดอกเกือบตลอดความยาวอับเรณูรูปเกือบกลม ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียรูปเกือบกลม กว้างประมาณ ๓ มม.ยาวประมาณ ๓.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่องแต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเล็ก รูปคล้ายโล่ ขอบพับจีบ
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง ผิวเรียบ มีก้านผลชัดเจน เมล็ดรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ มี ๑-๓ เมล็ด
จั๋งชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามที่ราบริมห้วยในที่ร่ม ในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.